สกสว. ร่วมภาคี หนุนผู้ประกอบการเพิ่มมูลค่านวัตกรรมด้วย ววน. พร้อมติดปีกสู่ตลาดการค้าโลก
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และโปรแกรมสนับสนุนพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรม SMART VALUE CREATION การส่งเสริมและต่อยอดนวัตกรรมสู่การค้าระหว่างประเทศ เพื่อเป็นพื้นที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยกับหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม ในการนำผลงานวิจัย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับธุรกิจและสร้างมูลค่าเพิ่ม “จากหิ้งสู่ห้าง” และเพื่อเป็นโอกาสที่จะต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดการค้าโลก
โดย นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เกิดขึ้นจากแนวนโยบายของท่านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่มุ่งเน้น “ตลาดนำการผลิต” โดยให้มีการตั้งโจทย์จากความต้องการจริงของลูกค้าและแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคเป็นสำคัญ และจากการที่กรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สกสว. บพข. และ ITAP (สวทช.) ดังนั้น เพื่อเป็นการต่อยอดระหว่างตลาดและงานวิจัย จึงได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นเป็นปีที่สองหลังจากประสบความสำเร็จในการจับคู่ธุรกิจกับงานวิจัยในปีที่ผ่านมา โดยในครั้งนี้พบว่ามีผู้ประกอบการและนักลงทุนให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่มากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสและทิศทางที่ดีในการสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทย ตลอดจนยกระดับมูลค่าสินค้าและผลิตภัณฑ์ของไทยด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม
ด้าน รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. มีบทบาทสำคัญในการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ และจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ซึ่งครอบคลุมถึงการสร้างองค์ความรู้ขั้นพื้นฐาน ตลอดจนการนำองค์ความรู้มาพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรม และส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ปัจจุบัน สกสว. กำลังผลักดันกฎหมายใหม่ ได้แก่ (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. โดยเป็นการเปลี่ยนความเป็นเจ้าของจากภาครัฐไปสู่ผู้รับทุนเพื่อให้การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์สามารถทำได้ง่ายขึ้น และทำให้สามารถผลักดันนวัตกรรมออกสู่ตลาดได้มากขึ้น รวมถึงยังมีมาตรการอื่น ๆ เช่น มาตรการสนับสนุนทุนสำหรับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามความต้องการของภาครัฐหรือตามอุปสงค์ของตลาด (Thailand Business Innovation Research, TBIR / Thailand Technology Transfer Research, TTTR) ซึ่งเป็นมาตรการที่จะสนับสนุนทุนวิจัยตรงไปยังภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการทำวิจัย ซึ่ง สกสว. มีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนภาคเอกชนในการพัฒนาและสร้างนวัตกรรม และผลักดันให้เข้าถึงตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศได้อย่างแท้จริง
รศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อํานวยการสำนักพัฒนาระบบ ววน. ด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ กล่าวว่า สกสว. ได้ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในการพัฒนามาตรการ TBIR และ TTTR ที่เน้นในเรื่องการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรรม หรือ RDI (Research Development and Innovation) โดยมาตรการ TBIR มีกลุ่มเป้าหมายผู้ขอรับทุนคือ ภาคเอกชนที่มีศักยภาพ สามารถทำ RDI เองได้ จะมีหรือไม่มีหน่วยงานร่วมวิจัยก็ได้ ส่วนมาตรการ TTTR มีกลุ่มเป้าหมายผู้ขอรับทุน คือ ภาคเอกชนที่มีศักยภาพบริหารโครงการ RDI เองได้ แต่ยังขาดอุปกรณ์ เครื่องมือ โครงสร้างพื้นฐาน หรือบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง ซึ่งต้องมีการจับคู่กับสถาบันวิจัยหรือมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ สกสว. ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Tech2Biz ซึ่งมีฟังก์ชั่นช่วยจับคู่ความต้องการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ระหว่างผู้ประกอบการและนักวิจัย โดยปัจจุบันได้ออกแบบระบบให้สามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนที่สนใจการต่อยอดงานวิจัย และนวัตกรรม มากขึ้นประกอบด้วย
- TechPropose ระบบนำเสนองานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม ทรัพย์สินทางปัญญาจากผู้มีเทคโนโลยี
- TechSeek ระบบค้นหาผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาสำหรับผู้มองหาเทคโนโลยี
- TechInfra ระบบใหม่ ที่รวบรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อช่วยพัฒนาเทคโนโลยี
- TechSupport ระบบรวบรวมโปรแกรม และทุนสนับสนุนจากแหล่งต่างๆ และ
- TechNews ระบบนำเสนอข่าวสารและกิจกรรมด้านเทคโนโลยี .
สำหรับ กิจกรรม SMART VALUE CREATION ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นสะพานเชื่อมระหว่างภาคการผลิตและภาคการวิจัย ที่จะช่วยพัฒนาและต่อยอดสินค้าให้มีนวัตกรรมและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างศักยภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างโอกาสให้กับสินค้าไทย ให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงสร้างการรับรู้และภาพลักษณ์ที่ดีแก่สินค้าไทยทั้งในตลาดการค้าในประเทศและต่างประเทศต่อไป