อนุ กมธ.ฯ เคาะงบกองทุน ววน. 14,176 ล้านบาท หนุนวิจัยฟื้นประเทศจากโควิด
อนุ กมธ.ฯ เคาะงบกองทุน ววน. 14,176 ล้านบาท หนุนวิจัยฟื้นประเทศจากโควิด
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) พร้อมด้วย รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ผอ.สกสว.) นำทีมผู้บริหาร สกสว. เข้าประชุมชี้แจงงบประมาณรายจ่ายกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่อคณะอนุกรรมาธิการรัฐวิสาหกิจ วิทยาศาสตร์ การวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีและทุนหมุนเวียน ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 สภาผู้แทนราษฎร ณ อาคารรัฐสภา
ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธาน กสว. เปิดเผยว่า การชี้แจงงบประมาณครั้งนี้ในนามกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้นำเสนอถึงแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณกองทุนส่งเสริม ววน. ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ จากการร่วมแรงร่วมใจของหน่วยบริหารจัดการทุนหน่วย งานในระบบ ววน. รวมถึงประชา คมวิจัย ซึ่งสามารถสร้างผลกระทบสำคัญในปีงบ ประมาณที่ผ่านมา
โดยคณะอนุกรรมาธิการรัฐวิสาหกิจ วิทยาศาสตร์ การวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีและทุนหมุนเวียน พิจารณางบประมาณในส่วนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีมติเห็นชอบงบประมาณ 14,176 ล้านบาท สนับสนุนการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 โดยไม่พิจารณาปรับลดงบประมาณ อย่างไรก็ตามงบประมาณจำนวนดังกล่าวจะถูกจัดสรรไปยังหน่วยรับงบประมาณ โดยมีแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระยะ 3 ปี คือ 2563-2565 เป็นกรอบในการทำงาน แผนนี้จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและครม.อนุมัติ โดยกองทุน ววน.ได้ปรับปรุงให้สอดรับกับสถานการณ์วิถีใหม่
ทางด้าน รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. เปิดเผยว่า แผนการสนับสนุน ววน. ในปี 2565 ของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยังคงมุ่งเน้นประเด็นด้านเกษตรและอาหารมูลค่าสูง สมุนไพร การแพทย์และโลจิสติกส์ มีหน่วยรับงบประมาณ 165 หน่วยงาน ประกอบด้วยสถาบันอุดมศึกษา 90 หน่วยงาน หน่วยงานในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 15 หน่วยงาน หน่วยงานนอกกระทรวง อว. 60 หน่วยงาน สามารถแบ่งการใช้งบประมาณเป็น 3 ส่วน สะท้อนการแก้ปัญหาปัจจุบันแต่ก็ไม่ทิ้งการวางรากฐานสู่อนาคต ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 เพื่อการพัฒนาพื้นที่ คุณภาพชีวิตของประชาชนและการแก้ปัญหาท้าทายสังคม ได้รับการจัดสรรงบประมาณกว่า 1 ใน 3 ส่วนที่ 2 จะใช้ในการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนโดยใช้โอกาสของชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) หนุนการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) และส่วนที่ 3 การพัฒนาคนและความรู้สู่อนาคต เป็นการเร่งผลิตกำลังคนระดับสูงรองรับพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ของประเทศ รวมถึงการวิจัยพื้นฐานและการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) โดยกลไกการทำงานของกองทุน ววน. จะสนับสนุนและทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตจริง ทั้งภาครัฐและเอกชนให้มากขึ้น ประสานให้ทิศทางการทำงานของหน่วยงานภาครัฐสอดคล้องกันเพื่อให้เกิดพลังภายใต้งบประมาณที่จำกัด และเกิดการลงทุนเพิ่มของภาคเอกชนทั้งในด้านการผลิตและการพัฒนานวัตกรรม
นอกจากนี้คณะอนุกรรมาธิการรัฐวิสาหกิจ วิทยาศาสตร์ การวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี และทุนหมุนเวียน ได้มีข้อเสนอแนะเพื่อมุ่งเน้นการวิจัยที่ก่อให้เกิดผลกระทบและมีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ และเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้เหมาะสมต่อสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันยิ่งขึ้น ซึ่ง สกสว. ได้พิจารณามุ่งเน้นเพิ่มเติมในเรื่อง 1) การต่อยอดและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มและระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศ 2) การต่อยอดและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านชีวเวชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ วัคซีน การแก้ปัญหาโควิด และอาหารทางการแพทย์ อาหารเพื่อสุขภาพ 3) การต่อยอดและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมการต่อยอดการใช้ประโยชน์เพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก และ 4) การต่อยอดและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยในเชิงนโยบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการภาครัฐ