สทน.จับมือกฟผ.-ภาคีเครือข่ายด้านฟิวชั่นในไทย จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีฟิวชั่น ในภูมิภาคอาเซียน


รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม ASEAN School on Plasma and Nuclear Fusion ครั้งที่ 7 โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคม 2564 ในรูปแบบออนไลน์กิจกรรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมการประชุมรวม 72 คน เป็นผู้บรรยายและผู้อบรมจาก 13 ประเทศเข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้


ในปัจจุบัน การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากความต้องการใช้ พลังงานที่มีมากขึ้นทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม ทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตพลังงานเพื่อสร้างไฟฟ้าถูกใช้ไปในอัตราที่รวดเร็ว ประเทศต่างๆทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างความมั่นคงทางพลังงาน โดยการหาแหล่งพลังงานที่วางใจได้ เทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่นซึ่งสามารถให้พลังงานในราคาถูกและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยซึ่งสามารถเป็นที่ประชาชนยอมรับได้ง่าย เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน อินเดีย สหราชอาณาจักร เป็นต้น แต่สำหรับประเทศไทยนั้นการรับรู้และความเข้าใจทางด้านนิวเคลียร์ฟิวชั่นยังมีไม่มากนัก

การจัดกิจกรรม ASEAN School on Plasma and Nuclear Fusion ครั้งที่ 7 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักในด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชั่นให้นักศึกษาและนักวิจัย ตลอดจนมุ่งหวังให้เกิดความสนใจในด้านการวิจัยเกี่ยวกับพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชั่นในกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นการสร้างกลุ่มวิจัยที่เข้มแข็งทางพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชั่น ขึ้นในประเทศไทยและในประเทศในกลุ่มอาเซียนโดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางและมีบทบาทเป็นผู้นำด้านการวิจัยและพัฒนา



รศ.ดร.ธวัชชัย ได้กล่าวถึงการจัดกิจกรรมครั้งนี้ว่าได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตลอดจนมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่เป็นเครือข่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาด้านพลาสม่าและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชั่น โดยมีหน่วยงานชั้นนำของโลกที่มีกิจกรรมในการศึกษาวิจัยด้านนิวเคลียร์พลาสม่า อาทิ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) , สถาบันวิจัยฟิวชั่นในสนามแม่เหล็ก (Research Institute on Magnetic Fusion หรือ IRFM) ภายใต้ความร่วมมือ The French Alternative Energies and Atomic Energy Commission (CEA) ประเทศฝรั่งเศส International Thermonuclear Experimental Reactor (ITER) ประเทศฝรั่งเศส , ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency หรือ IAEA) ประเทศออสเตรีย, Japan Graduate University for Advanced Studies (SOKENDAI), National Institute for Fusion Science (NIFS) ประเทศญี่ปุ่นและ US Department of Energy ประเทศสหรัฐอเมริกา

จากประสบการณ์โดยวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงของหน่วยงานเหล่านี้จะเป็นโอกาสอันที่ดีที่ภูมิภาคอาเซียน และประเทศไทยรับความรู้และประสบการณ์ที่สำคัญ เพื่อนำไปสู่การเตรียมตัวสำหรับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชั่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อสร้างเครือข่ายและยกระดับการพัฒนางานวิจัยและบุคลากรด้านฟิวชั่นพลาสมา และกิจกรรมสำคัญเกี่ยวกับนิวเคลียร์ฟิวชั่นในภูมิภาคอาเซียนต่อไป