อพท.ผนึก 6 องค์กรท่องเที่ยวถอดรหัสความสำเร็จ “Phuket Sandbox”
อพท.ผนึก 6 องค์กรท่องเที่ยวถอดรหัสความสำเร็จ Phuket Sandbox ต่อยอดสู่แพล็ตฟอร์มดิจิตอล รับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวปรับเปลี่ยน
อพท. ผนึกภาคีเครือข่าย 6 องค์กร “ถอดบทเรียนการป้องกัน Covid-19 จาก Phuket Sandbox ดึงความสำเร็จสู่การต่อยอดในพื้นที่พิเศษและเมืองรอง สร้างโมเดลต้นแบบการจัดการภายใต้สภาวะวิกฤติ สร้างจุดขายตอบไลฟ์สไตล์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่ปรับเปลี่ยน ก้าวสู่ยุคดิจิตัล ด้วยแอพพลิเคชั่น Tourism Digital Sandbox เครื่องมือบริหารมาตรฐานความปลอด ภัยในแหล่งท่องเที่ยวกลไกความเชื่อมั่นด้านบริการนักท่องเที่ยวและประชาชน
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน และ ผู้เชี่ยวชาญ 6 องค์กร ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเขตพื้นที่ภาคใต้ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้นำด้านการประเมินความยั่งยืนตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) สมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ เปิดเวทีสัมมนาขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวและบริการของไทย ในหัวข้อเรื่อง “ถอดบทเรียนการป้องกัน Covid-19 จาก Phuket Sandbox สู่พื้นที่พิเศษและเมืองรอง” ครั้งที่ 1 ผ่านระบบ Facebook Live by DASTA Academy เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความคิดเห็น และสร้างกลไกการมีส่วนร่วมที่จะไปสู่แผนการบริหารจัดการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการให้บริการท่องเที่ยววิถีใหม่ ต้อนรับฤดูกาลการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี 2564 ผ่านการบูรณาการทำงานร่วมกันทุกหน่วยงาน โดยการถอดกรณีศึกษาของ Phuket Sandbox จะดำเนินการทั้งในมิติความสำเร็จในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย และส่วนที่ต้องมีการพัฒนาต่อยอด เพื่อการบริการที่มีประสิทธิภาพที่จะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ
“การระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ เป็นการถอดบทเรียนจากกรณีศึกษา (Case Study) ของพื้นที่ Phuket Sandbox โดยการนำองค์ความรู้ในการบริหารจัดการด้านความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากนักท่องเที่ยว และประชาชนในระดับแหล่งท่องเที่ยว (Destinations) ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 จนเป็นผลสำเร็จ และเป็นโมเดลการบริหารจัดการแบบบูรณาการภายใต้กลไกของภาครัฐ ที่จะนำเทคโนโลยี ระบบดิจิตอล มาพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่น Tourism Digital Sandbox ในพื้นที่ของตนเอง ที่สอดคล้องกับมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดที่เป็นไปตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) เพื่อประสิทธิภาพในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวที่มีความเข้มแข็ง และสามารถพัฒนาเป็นเครื่องมือทางการตลาดให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการในพื้นที่ เป็นต้น เพื่อสร้างการรับรู้และฟื้นฟูความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย” ผู้อำนวยการ อพท. กล่าว
แนะใช้ดิจิตัลเจาะเทรนด์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวหลังจบโควิด*
ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวภายหลังจบสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นักวิชาการได้ วิเคราะห์ทางรอดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยยุคหลังโควิด ว่าจะต้องปรับตัวอย่างไรให้เข้าสถานการณ์ โดยได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการประเมินพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวหลังโควิด -19 ซึ่งพบว่า ประเทศไทยจะต้องเตรียมแผนการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวของไทยใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาติดเมืองการท่องเที่ยว 1 ใน 5 ประเทศของโลกเหมือนเดิม
ผลจากงานวิจัย พบว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมแผนรองรับความเสี่ยงของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด -19 เพื่อให้กิจกรรมการท่องเที่ยวเป็นไปอย่างราบรื่น ภายใต้การท่องเที่ยววิถีใหม่ โดยฝั่งผู้ประกอบการ ชุมชน แหล่งท่องเที่ยว หรือเรียกว่ากลุ่มซัพพลายไซต์ จะต้องมีการพัฒนายกระดับการให้บริการ โดยให้ความสำคัญองค์ประกอบการขับเคลื่อน ด้วยหลัก Tourism Economy มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ (Digital Economy) เพื่อความสะดวก ปลอดภัยและสุขอนามัย
การมีส่วนร่วมในการพัฒนา ( Sharing Economy ) การดูแลด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Green Economy) การพัฒนาจ่ายเงินผ่านระบบดิจิทัล ( Cashless Economy) การทำธุรกรรมการเงินผ่านออนไลน์(Touchless Economy) และการสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ ( Trust Economy )
ในฝั่งนักท่องเที่ยวและนักเดินทาง หรือกลุ่มดีมานด์ไซต์ พบว่า ตลาดนักท่องเที่ยวที่น่าจับตามองหลังจากนี้ เมื่อโควิด-19 คลี่คลายแล้ว นักท่องเที่ยวจะให้ความสนใจ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความสุข และความยั่งยืนมากขึ้น โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากเป็นกลุ่มวัยเกษียณ กลุ่มครอบครัว กลุ่มคนรุ่นใหมา ดังนั้นจึงต้องมีระบบสาธารณูปโภค ระบบอินเตอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพ และต้องขยายให้ครอบคลุมพื้นที่ท่องเที่ยวในเมืองรองมากขึ้น ถือเป็นการตอบโจทย์ ให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวนับจากนี้ไป
* Phuket Sandbox ดึงเม็ดเงินเข้าระบบกว่า 1,000 ล้านบาท*
ด้านนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ข้อดีของการขับเคลื่อนนโยบาย Phuket Sandbox คือได้เห็นการบูรณาการความร่วมมือกันหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน จนเกิดเป็นผลสำเร็จและประสานการทำงานกันได้อย่างลงตัว รวดเร็วทันเวลา ข้อดีตรงนี้จึงสามารถนำไปเป็นต้นแบบในการขยายผลไปยังพื้นที่เป้าหมายอื่นๆของรัฐบาลให้มีความสอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ที่พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
“การเปิด Phuket Sandbox ใน 1 เดือนที่ผ่านมาคือตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ส่งผลให้เกิดกระแสความสนใจของนักท่องเที่ยว ทั้งในและต่างประเทศ โดยมียอดนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา ถึง 12,368 คน ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตมากกว่า 1,000 ล้านบาท”
ประธาน สอท. กล่าวต่อด้วยว่า ต้องยอมรับว่าการท่องเที่ยวไทยในปัจจุบันต้องแข่งขันกับนานาชาติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ประเทศ มัลดีฟส์ และบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ที่ได้ทำการตลาดในรูปแบบ เพื่อสร้างตลาดการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง ดั้งนั้นการเปิดเมืองภูเก็ตครั้งนี้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาและนำมาสู่การพัฒนาสร้างจุดแข็งตั้งแต่แผนรองรับความเสี่ยง โดยการวางกฎระเบียบต่างๆ อย่างเข้มข้นและเป็นไปตามมาตรฐานด้านความปลอดภัย
ทั้งนี้การถอดโมเดล Phuket Sandbox ในครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ที่จะนำไปเป็นต้นแบบในการขยายไปยังพื้นที่เป้าหมายอื่นๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่มีศักยภาพพร้อมเปิดดำเนินการ อาทิ เกาะสมุย และเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี โดยจะนำเอากรณีศึกษาของพื้นที่ Phuket Sandbox มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งเรื่องความปลอดภัย สวัสดิภาพ การจัดการภายใต้สภาวะวิกฤติ และ เหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะการบริหารจัดการรับมือกับการแพร่เชื้อโควิด-19 ทั้งจากนักท่องเที่ยวไม่ให้เกิดการติดเชื้อในพื้นที่ มีหน่วยงานกลางในการบูรณาให้เกิดระบบการบริการการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว และประชาชนในพื้นที่ต่อไป
อย่างไรก็ตามภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และ ทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวชะลอตัว ดังนั้นมาตรการควบคุมการแพร่เชื้อโควิด-19 ทั้งในด้านการเว้นระยะห่าง การสวมใส่หน้ากากอนามัยให้เข้มข้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้กิจกรรมการท่องเที่ยวสามารถกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง