สทนช.ติวเข้ม Blue-Net Camp#1 ปั้นเยาวชนสู่ผู้นำแก้วิกฤตน้ำ
สทนช. เดินหน้าภารกิจ พัฒนา ขับเคลื่อน และยกระดับความร่วมมือของทุกภาคส่วนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านน้ำ โดยเฉพาะพลังการขับเคลื่อนของเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้รอบรู้ เข้าใจสถานการณ์ และมองเห็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องน้ำระดับชุมชนและระดับประเทศ พร้อมกับหาแนวทางการปรับปรุงและพัฒนา เพื่อไปสู่ทางออกที่ดีกว่าผ่านกิจกรรม Blue-Net Camp#1 ค่ายเยาวชนพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ 6-7-8 สิงหาคม 2564 นี้
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช. ให้ความสำคัญกับการพัฒนา ขับเคลื่อน และยกระดับการร่วมลงมือปฏิบัติของทุกภาคส่วนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านน้ำ โดยเฉพาะเยาวชนที่จะมาเป็นกำลังสำคัญและผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยสนับสนุนผ่าน 3 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย 1.การแลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ 2. ค่ายเยาวชนพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ เพื่อให้เยาวชนร่วมกันพัฒนาเครื่องมือเชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และ 3. การมอบรางวัล 9 ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ ที่ได้รับการคัดเลือกโดยคณะกรรมการจากทุกภาคส่วน โดยดำเนินกิจกรรมระหว่าง เดือนมีนาคม – ตุลาคม 64 นี้
ในด้านของ ค่ายเยาวชนพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ ที่ได้เริ่มต้นไปแล้ว ซึ่งมีคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมนี้ โดย กัมปนาท ยมสุข หรือ ปีเตอร์ ศิษย์เก่าจากค่าย Action for Climate Empowerment (ACE) โดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งผู้ร่วมกิจกรรม
กัมปนาท จะจบการศึกษาดีกรีเกียรตินิยม จากคณะศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ โดยมีความตั้งใจที่จะศึกษาต่อด้านการระหว่างประเทศ เพื่อจะเป็นนักการทูต จากเดิมที่ไม่เคยใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและไม่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ จนมีโอกาสเข้าค่ายเยาวชน “ความคิด” จึงเปลี่ยนไป เปิดใจให้สิ่งแวดล้อม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
“อยากเข้ามาร่วมแชร์ความรู้และประสบการณ์กับเพื่อน และน้อง ๆ แล้วยังมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ โอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในแต่ละประเด็น และเป็นโอกาสดีที่เปิดให้เยาวชนที่มีความสนใจ มีความรู้ ความสามารถในศาสตร์ด้านนี้ ได้เข้ามาร่วมเรียนรู้แลกเปลี่ยนและเสนอโครงการเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ”
นับตั้งแต่เริ่มเข้าร่วมกิจกรรมมาจนถึงวันนี้ กัมปนาท มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องน้ำ เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก อย่างเมื่อก่อน ถ้าพูดถึงการจัดการน้ำ ก็นึกถึงแค่การจัดการเชิงอุปโภค-บริโภคเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงยังมีมิติอื่นอีกมาก เช่น การจัดการกับน้ำเค็มและที่ชอบมากเป็นการส่วนตัว คือการบริหารจัดการน้ำระหว่างประเทศในกรณีลุ่มน้ำโขง ซึ่งถือเป็น การเปิดกว้างคำว่า “การจัดการทรัพยากรน้ำ”
กิจกรรมครั้งนี้ กัมปนาท ได้รับมอบหมายให้เป็นแกนหลักในการดำเนินการโครงการ “ฉลากน้ำยิ้ม” ซึ่งความคาดหวังของทีมก็คือ การนำพาโครงการฉลากน้ำยิ้มให้ต่อยอดไปได้ไกลที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อให้เป็นผลงานของเยาวชน Blue-Net Camp รุ่นที่ 1 โดยเป็นการนำเสนอผลงานผ่านระบบออนไลน์เต็มรูปแบบเนื่องจากอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19
กัมปนาท มองว่าการจะเป็นผู้นำเยาวชนการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำได้นั้น เยาวชนต้องเป็น คนที่รู้รอบ ชอบคิด มีจิตเพื่อสังคม อย่างแรก เป็นผู้ที่มีความรู้รอบ เข้าใจสถานการณ์และมองเห็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องน้ำในประเทศไทย พร้อมกับหาแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อไปสู่ทางออกที่ดีกว่า
“เมื่อมองเห็นปัญหาแล้ว สามารถคิดวิธีแก้ได้อย่างสร้างสรรค์ ยั่งยืนและควรทำได้จริง และสุดท้าย เป็นผู้ที่มีจิตเพื่อสังคม สามารถ ลงมือทำอย่างตั้งใจ ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อส่วนรวม”
ท้ายที่สุดแล้ว หลังจากค่ายจบลงทุกครั้ง สิ่งสำคัญสิ่งแรกที่ต้องทำคือ การรักษาเครือข่ายที่มีอยู่ให้ดำเนินไปต่อเนื่อง อย่างไม่ขาดตอน ด้วยมิตรภาพที่ไม่สามารถเรียนรู้ได้จากในห้องเรียน
ติดตามกิจกรรม Blue-Net Camp#1 ค่ายเยาวชนพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ 6-7-8 สิงหาคม 2564 นี้
ผ่าน YouTube Channel : ONWR Youth Move