นักวิชาการห่วงไรด์เดอร์ส่งอาหาร – ส่งของ แพร่เชื้อโควิด 19 ในชุมชน จี้รัฐปูพรม “ฉีดวัคซีน”
จากกรณีพบการติดเชื้อโควิด 19 ในชุมชนจากบริการรับ-ส่งอาหารรวมถึงบริการส่งของจากการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พญ. ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่รถจักรยายนยนต์ปลอดภัย เปิดเผยว่า จากรายงานของ“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ระบุว่า ธุรกิจจัดส่งอาหารหรือ Food Delivery เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับความนิยมและเป็นที่สนใจอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงล็อคดาวน์ ที่หลายจังหวัดโดยเฉพาะกรุงเทพและปริมณฑลไม่สามารถ รับประทานอาหารในร้านอาหารได้
พญ.ชไมพันธุ์ กล่าวว่า จากสถิติพบว่า จำนวนการสั่งอาหาร มีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นมากกว่า 80% ในช่วงดังกล่าว ไม่รวมธุรกิจรับส่งพัสดุ ที่เกิดจากพฤติกรรม และความนิยมซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ในช่วงที่ร้านค้า และห้างสรรพสินค้าต่างๆ กำลังถูก Disrupt ให้ต้องปรับตัวเอง ไปสู่รูปแบบการขายสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น
อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ ให้ข้อมูลว่า ไรด์เดอร์ที่ให้บริการส่งอาหารแบบดิลิเวอรี่ และส่งสินค้าที่ซื้อขายออนไลน์ ถือเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมเดินต่อไปได้ในยุคนิว นอร์มอล โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการล็อคดาวน์ แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ ขณะนี้ มีไรด์เดอร์อีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เนื่องจากไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ คนอ้วน หรือ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 โรค จึงยังไม่ถูกจัดเข้าในระบบของการฉีดวัคซีน ซึ่งถือว่าอันตรายมาก เพราะเป็นกลุ่มที่มีการสัมผัสพบเจอผู้คนในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก จึงมีความเสี่ยงสูงทั้งการติดเชื้อและแพร่เชื้อ COVID-19 การให้วัคซีนแก่คนกลุ่มนี้จึงมีความจำเป็นในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในขณะนี้
และขอร้องให้ทุกบริษัทของไรเดอร์ ควรมีมาตรการองค์กร ตรวจเช็คยาง และ เบรค ทุกปี ให้ผู้ขับขี่สวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่ล้อหมุน ไม่ดื่มสุรา หรือขับเร็ว โดยเฉพาะในเขตชุมชนควรขับที่20-50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง