โควิด 19 ทำยอดขายมอร์เตอร์ไซค์ทั่วโลกตก สวนกระแสความต้องการพาหนะ 2 ล้อ เสี่ยงติดเชื้อน้อยสุด

โควิด 19 ทำยอดขายมอร์เตอร์ไซค์ทั่วโลกตก สวนกระแสความต้องการพาหนะ 2 ล้อ เสี่ยงติดเชื้อน้อยสุด

นางสาวศิริวรรณ สันติเจียรกุล นักวิจัยโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่รถจักรยานยนต์ปลอดภัย เปิดเผยถึงข้อมูลการสำรวจของ Global motorcycle market 2020 and future trend (อุตสาหกรรมมอเตอร์ไซค์โลก 2020) พบว่า การระบาด ของ โควิด-19 ส่งผลต่อสถิติการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในตลาดโลก โดยข้อมูลล่าสุด เมื่อ เดือนตุลาคม 2563 พบว่า ยอดขายรถจักรยานยนต์ทั่วโลกลดลง 16% อันเป็นผลมาจากการ ล็อกดาวน์ที่มีผลต่อทั้งผู้ซื้อและผู้ผลิต

อย่างไรก็ตามในท่ามกลางการระบาด การสำรวจผู้บริโภคในโลกตะวันตกและประเทศจีน กลับพบว่า มีความต้องการใหม่ในการเดินทางส่วนบุคคล ที่ทำให้การซื้อพาหนะสองล้อ เช่น จักรยาน สกูตเตอร์ โมเป็ดและ มอเตอร์ไซค์ กลายเป็นหนึ่งในความต้องการที่สำคัญ เพื่อใช้แทนการขนส่งสาธารณะ
น.ส.ศิริวรรณ กล่าวว่า จากการวิจัยพบว่าคนส่วนใหญ่รู้สึกว่าการใช้ยานพาหนะแบบสองล้อไฟฟ้า เป็นทางเลือกที่ง่าย ปราดเปรื่อง (smart) และ น่านับถือ เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด งานวิจัยนี้ ได้รับการยืนยันจากยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ หลังการระบาดของโควิดรอบแรกในช่วงไตรมาสที่2และ 3ที่เพิ่มขึ้น ทั้งใน จีน ยุโรป และ อินเดีย สำหรับประเทศอาเซียน ลาตินอเมริกา และ สหรัฐฯอเมริกา การขายยังลดลงอยู่จาก Covid-19 ซึ่งต้องรอดูแนวโน้มในอนาคตต่อไป

นักวิจัยโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่รถจักรยานยนต์ปลอดภัย ยังบอกด้วยว่า ที่น่าเป็นห่วง คือความรุนแรงของการบาดเจ็บจากรถจักรยานยนต์ ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มเร็วมากขึ้น หากรัฐไม่เร่งกำหนดมาตรฐานความเร็วและ ความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ ทั้งแบบน้ำมันและไฟฟ้าตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต เร่งจัดระบบยานพาหนะ ใบขับขี่ถนน และ ปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายให้ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัยเท่าเทียมสากล
รวมทั้งเร่งควบคุมการโฆษณารถจักรยานยนต์ ให้ไม่เหนี่ยวนำพฤติกรรมเสี่ยง ผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยาน ยนต์ ต้องร่วมรับผิดชอบอย่างเป็นระบบต่อความสูญเสียของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ และ จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ต้องร่วมกันทำงานแบบสหสาขา อย่างต่อเนื่องเข้มแข็ง เพื่อผลักดัน ทั้งในกลุ่มนักการเมือง ผู้กำหนดนโยบาย และสังคมวงกว้าง ให้เกิดนโยบายจักรยานยนต์ปลอดภัยในทุกมิติ ทั้ง รถ คน ถนน และ ระบบ