พม. จัดประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2564 ภายใต้แนวคิด “ครอบครัวไทยกับการสร้างสมดุลในวิถีชีวิตใหม่”
พม. จัดประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2564 ภายใต้แนวคิด “ครอบครัวไทยกับการสร้างสมดุลในวิถีชีวิตใหม่”
วันนี้ (15 ก.ย. 64) เวลา 09.30 น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กทม. นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2564 ภายใต้แนวคิด “ครอบครัวไทยกับการสร้างสมดุลในวิถีชีวิตใหม่” ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ Virtual Event Online พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ครอบครัวไทยกับการสร้างสมดุลในวิถีชีวิตใหม่” โดยมีนางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวรายงาน ทั้งนี้ มีผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวจังหวัดและกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน ภาคประชาชน รวมทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว วิทยากร และผู้สังเกตการณ์ รวมจำนวนกว่า 300 คน เข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ Virtual Event Online
นางพัชรี กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจด้านครอบครัวด้วยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนามาตรการในการขับเคลื่อนภารกิจด้านครอบครัวให้เกิดประสิทธิภาพ และจากข้อเสนอของการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายด้านครอบครัว ประกอบกับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทั้งการดำเนินงานด้านครอบครัวตามภารกิจของ สค. การรับฟังข้อมูลจากเวที การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงได้จัดการประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2564 ภายใต้แนวคิด “ครอบครัวไทยกับการสร้างสมดุลในวิถีชีวิตใหม่” เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ในการระดมความคิดเห็นเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดมาตรการ แนวทางในการพัฒนาสถาบันครอบครัวกับการสร้างสมดุลในวิถีชีวิตใหม่ สำหรับกระทรวง พม. นำไปกำหนดเป็นนโยบายพัฒนาครอบครัวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นางพัชรี กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างทั่วประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันทางสังคมที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาคนและสมาชิกหลายช่วงวัยในครอบครัว ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวเปราะบางที่มีเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง และพ่อ-แม่เลี้ยงเดี่ยว เป็นต้น ซึ่งกระทรวง พม. ได้ดำเนินโครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน ระหว่าง 12 กระทรวง 1 หน่วยงาน ด้วยการบูรณาการความร่วมมือในการช่วยเหลือครอบครัวเปราะบางให้ครอบคลุมทุกมิติแบบองค์รวม เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งพาตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ แต่ละครอบครัวจำเป็นต้องมีการปรับตัวให้พร้อมรับกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงต่อชีวิตวิถีใหม่ เพื่อให้เกิดสมดุลในยุค New Normal ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
ซึ่งกระทรวง พม. ได้วางแนวทางการปรับตัวสำหรับครอบครัวไว้ 5 มิติ ประกอบด้วย 1. เรื่องรายได้ สมาชิกในครอบครัวต้องมีการปรับเปลี่ยนอาชีพ เกิดอาชีพรูปแบบใหม่ ซึ่งกระทรวง พม. โดย สค. ได้เข้าไปดูแลช่วยเหลือเรื่องฝึกทักษะอาชีพที่เหมาะสมกับแต่ละครอบครัวตามต้นทุนที่มีอยู่ เพื่อให้สามารถเลี้ยงดูและพึ่งพาตนเองและครอบครัวได้ เช่น Work From Home ทำงานจากที่บ้าน
Work From Anywhere และการหารายได้ทางออนไลน์ เป็นต้น อีกทั้งการให้ความสำคัญกับการมีแหล่งรายได้มากกว่า 1 แหล่ง เนื่องจากความไม่แน่นอนในอาชีพรายได้มีมากขึ้น 2. เรื่องความเป็นอยู่หรือที่อยู่อาศัย ต้องมีความมั่นคงปลอดภัยของที่อยู่อาศัย การปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวเปลี่ยนไป ต้องมีการเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัย
นางพัชรี กล่าวต่อไปอีกว่า 3. เรื่องการศึกษา ต้องเตรียมการเพื่อให้เด็กได้เข้าถึงการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพราะการเรียนออนไลน์ และเด็กอาจเกิดความเครียดจากการเรียนออนไลน์ อุปกรณ์การสื่อสาร และภัยคุกคามทางไซเบอร์ เนื่องจากพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ต้องไปทำงานนอกบ้าน ซึ่งเรื่องพื้นที่ (Space) จึงมีความสำคัญมาก ดังนั้น พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ต้องช่วยกันดูแลเอาใจใส่ และมีปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัวอันดีด้วยการอยู่ร่วมกันมากขึ้น 4. เรื่องสุขภาพ ครอบครัวต้องมีความรู้และอุปกรณ์ในการป้องกันตนเองจากโควิด-19 และ 5. การเข้าถึงบริการภาครัฐ ครอบครัวต้องเข้าถึงสิทธิสวัสดิการของรัฐ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวมีรายได้และได้รับสิทธิสวัสดิการของรัฐเพื่อช่วยเหลือครอบครัว ทั้งนี้ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ในการผนึกกำลังการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันครอบครัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าไปสู่เป้าหมายได้อย่างยั่งยืน
นางจินตนา กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดการประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการทบทวนปัญหา รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะแนวทางในการดำเนินงานด้านครอบครัวในทุกระดับ เพื่อรวบรวมเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยอันนำไปสู่การกำหนดนโยบายและแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว ตลอดจนส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ มีกิจกรรมที่น่าสนใจ ประกอบด้วย เวทีกลาง การเสวนา “วิกฤติและโอกาสของครอบครัวไทยในยุค COVID-19” และการเสวนาและอภิปรายกลุ่มย่อย “ครอบครัวไทยกับการสร้างสมดุลในวิถีชีวิตใหม่” ได้แก่ ห้องย่อยที่ 1 : ครอบครัวไทยรับมืออย่างไรในภาวะวิกฤติ COVID-19 ห้องย่อยที่ 2 : COVID-19 กับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และห้องย่อยที่ 3 : การจัดการเชิงนโยบายสร้างสมดุลครอบครัวแบบบูรณาการเพื่อนำเสนอผลการประชุมสมัชชาครอบครัว ประจำปี 2564 และรับรองร่างข้อเสนอมติสมัชชาครอบครัว ประจำปี 2564 ต่อไป