อว.ผนึกหลายหน่วยงานจัดเสวนาออนไลน์ เตรียมดึงงานวิจัย-นวัตกรรม รับมือสถานการณ์น้ำ
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)เป็นประธานเปิดงานเสวนา เรื่อง “2564 จะมีน้ำท่วมใหญ่หรือไม่ เตรียมพร้อมรับมืออย่างไร” ในรูปแบบออนไลน์ ผ่าน VDO Conference ด้วยระบบ Zoom และ Facebook Live จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยงานพันธมิตรด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศ มุ่งให้ความรู้ประชาชน สร้างการตื่นรู้ ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องปี64ไม่น่าเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี54 แต่ต้องรับมือน้ำท่วมเป็นบางพื้นที่ ไปพร้อมต้องเก็บน้ำไว้ใช้อนาคต รมต.อว.เล็งพิจารณาข้อเสนอบริหารจัดการน้ำที่น่าสนใจ โครงการ “เจ้าพระยา เดลต้า 2040” และอื่นๆ เพื่อขยายผลต่อไป
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา กล่าวในประเด็น “อว. เตรียมพร้อม รับมือ สถานการณ์น้ำ ด้วยข้อมูลวิจัยและนวัตกรรม” ว่า ที่ผ่านมามีข่าวว่า น้ำจะท่วมใหญ่ แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นในรายละเอียดที่แตกต่างกัน จึงหารือกับท่านปลัดอว.( ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล)เห็นว่าเป็นเรื่องความรู้ และเรามีผู้ที่ศึกษาเรื่องน้ำมานาน จึงต้องมาคุยกัน เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ฟังกัน โดยย้ำว่า การจัดเสวนาครั้งนี้ไม่ได้ทำให้เกิดความกลัว แต่เพื่อความไม่ประมาทและเพื่อความตื่นรู้ ว่าเรามีความรู้อะไรบ้าง มีเครื่องมืออะไรบ้าง เพื่อรับมือสถานการณ์ที่น่าวิตก ที่เราจะต้องเตรียมตัวตั้งแต่ตอนนี้ นอกจากนี้ยังได้หารือกับนายกรัฐมนตรีที่สนับสนุนให้คุยกันและยินดีที่จะทำงานร่วมกับฝ่ายปฏิบัติ
ทั้งนี้การเสวนาออนไลน์ “2564 จะมีน้ำท่วมใหญ่หรือไม่ ? เตรียมพร้อมรับมืออย่างไร” ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งการบริหารจัดการน้ำสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมด้วย อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดร.พิจิตต รัตตกุล ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักอุตุนิยม วิทยาชำนาญการ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา รองศาสตราจารย์ ดร.เสรี ศุกราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา กรมชลประทานและผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนกกล่าวสรุปภาพรวมการเสวนาครั้งนี้ว่า วันนี้มีผู้เชี่ยวชาญ7 ท่านที่มีประสบการณ์รับภัยน้ำท่วมมาร่วมพูดคุย โดยสรุปแล้วต้องติดตามและมองสถานการณ์น้ำในแง่บวก อีกทั้งปี2564 นี้ไม่น่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่แบบปี 2554 สาเหตุจากน้ำในเขื่อนยังมีปริมาณน้อย การที่จะต้องปล่อยน้ำจากเขื่อนเป็นปริมาณมากเหมือนปี2554 ไม่น่าเกิดขึ้น
ขณะเดียวกันปัญหาทั่วไปของปีนี้คือ น้ำยังไม่พอ เพราะฉะนั้นจึงต้องคำนึงถึงเรื่องน้ำท่วมเป็นบางจุด แต่ในภาพใหญ่ทั่วไปยังต้องเก็บน้ำ สำหรับฝนที่ตกหนักขึ้นใน1-2เดือนข้างหน้า หวังว่าจะไปตกที่เหนือเขื่อนมากขึ้น และพี่น้องประชาชนต้องพยายามเก็บน้ำที่อยู่ใต้เขื่อนให้มากขึ้น
รมต.อว.กล่าวต่อว่า ภาคที่ต้องระวังคือ ภาคตะวันออกเพราะมีฝนตกมากและภาคใต้ที่จะตกในเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป โดยเฉพาะจ.นครศรีธรรมราช นอกนั้นโดยทั่วไปไม่น่าวิตก
นอกจากนี้จากการเปิดเผยของดร.พิจิตร รัตตกุล ยังพบว่า รัฐบาลและกทม.ได้สรุปบทเรียนจากสถานการณ์น้ำท่วมปี 2554 เพื่อทำอะไรที่จะป้องกัน เสริมสร้างการรับน้ำ ทำให้ขนะนี้มีความพร้อมมากกว่าปี 2554 มาก ดังนั้น 2 ปัจจัยคือ เรื่องฝนตกรุนแรง จนต้องปล่อยน้ำลงมาไม่น่าวิตก และเรายังมีความพร้อม เตรียมพร้อม มีเครื่องมือที่จะรอรับมือ แต่ก็ไม่ควรประมาท พื้นที่ริมน้ำต้องเตรียมรับมือ
ทั้งนี้รมต.อว.ยังเตรียมนำข้อเสนอของหน่วยงานต่างๆไปพิจารณาเพื่อขยายผลในอนาคตต่อไป โดยข้อเสนอที่น่าสนใจอาทิ โครงการ “เจ้าพระยา เดลต้า 2040” ที่มุ่งบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา พื้นที่รับน้ำจากภาคเหนือ โดยจะมีการขุดคลองมากขึ้น ทำอุโมงค์ลัดน้ำ มีที่พักน้ำและมีที่เก็บน้ำบนบกบนผิวน้ำมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเกษตร การใช้น้ำจะดีขึ้น รวมถึงจะช่วยการแก้ปัญหาภัยแล้งสลับกับน้ำท่วม
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ การป้องกันกรุงเทพฯและปริมณฑลอย่างเป็นระบบและอีกหลายจังหวัด เหมือนเนเธอแลนด์ ซึ่งจะมีการพิจารณาและเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป
อนึ่งการจัดงานเสวนา เรื่อง “2564 จะมีน้ำท่วมใหญ่หรือไม่ เตรียมพร้อมรับมืออย่างไร” ในครั้งนี้ วช. ได้รับมอบจากคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) ให้บริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม พร้อมขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมในการจัดการกับปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศ โดยปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลาย ๆ ด้าน อาทิ อุณหภูมิเพิ่มขึ้น ปริมาณและรูปแบบการกระจายตัวของฝนเปลี่ยนไป ฤดูกาลขยับเลื่อน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ดังนั้น สังคมและชุมชนต้องรับรู้และเข้าใจ พร้อมปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อลดผลกระทบและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะประเด็น “น้ำท่วม น้ำแล้ง” ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาวิกฤติที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนที่เผชิญกันมาบ่อยครั้ง อีกทั้งสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม