พม.ร่วม MOU นำร่อง 3 จังหวัด เร่งแก้ปัญหาความรุนแรงในภูมิภาค ตามกลยุทธ์ 5Ps

พม. ร่วมลงนาม MOU นำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร ขอนแก่น และร้อยเอ็ด เร่งแก้ปัญหาความรุนแรงในภูมิภาค ตามกลยุทธ์ 5Ps


วันนี้ (21 ก.ย. 64) เวลา 09.30 น. นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการขับเคลื่อนกลไกป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม นำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร ขอนแก่น และร้อยเอ็ด รวมทั้งสิ้น 39 หน่วยงาน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสนับสนุนแนวทางการทำงานในทุกมิติสำหรับการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบที่ชัดเจน และส่งเสริมการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ เป็นทีมสหวิชาชีพ โดยมีกรอบและข้อเสนอแนวทางการดำเนินงานกลไกขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม ตามกลยุทธ์ 5Ps ประกอบด้วย ด้านนโยบาย ด้านการดำเนินคดี ด้านการคุ้มครอง ด้านการป้องกัน และด้านความร่วมมือ



นางพัชรี กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีภารกิจสำคัญในการกำหนดมาตรการ กลไก นโยบายสังคม และแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมทุกมิติ โดยให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมให้เกิดประสิทธิภาพ ด้วยการบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ จึงได้กำหนดให้โครงการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม เป็นโครงการสำคัญ (Flagship Projects) ประจำปี 2564 เพื่อใช้ในการกำหนดทิศทางนโยบายในการพัฒนาสังคม เป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทางสังคมอย่างยั่งยืน นำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา


นับเป็นการผสานความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน รวมทั้งสิ้น 27 หน่วยงานในส่วนกลาง และส่งต่อความร่วมมือไปยังภูมิภาคในวันนี้ ซึ่งมีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการขับเคลื่อนกลไกป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม นำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพรขอนแก่น และร้อยเอ็ด รวมทั้งสิ้น 39 หน่วยงาน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม เกิดประสิทธิภาพ มีทิศทางเดียวกัน และบรรลุผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในทุกระดับ

นางพัชรี กล่าวต่ออีกว่า กระทรวง พม. มีความมุ่งมั่นในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานโครงการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม ประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กองตรวจราชการ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม โครงการสปริง และมูลนิธิการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม ร่วมกันกำหนดกรอบและข้อเสนอแนวทางการดำเนินงานกลไกขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ตามกลยุทธ์ 5Ps โดยดำเนินการนำร่องใน 3 พื้นที่จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร จำนวน 12 หน่วยงาน จังหวัดขอนแก่น จำนวน 15 หน่วยงาน และจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 12 หน่วยงาน รวมทั้งสิ้น 39 หน่วยงาน
โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนแนวทางการทำงานในทุกมิติสำหรับการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบที่ชัดเจน และส่งเสริมการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ เป็นทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานแรงงานจังหวัด กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด สำนักงานอัยการจังหวัด ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด ผู้ช่วยประสานงาน เช่น ล่ามภาษาต่างประเทศ ล่ามภาษามือ ผู้ดูแลคนพิการ อาสาสมัคร องค์กรชุมชน องค์กรศาสนา องค์กรภาคประชาสังคม และหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม