นักวิจัยจุฬา คิด “สูตรพิชิตผมร่วงจากแสมทะเล” คว้ารางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น วช.

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดตัว “ผลิตภัณฑ์แก้อาการผมร่วงชนิดแอนโดรจินิค – อโลเพเซียจากสารสกัดแสมทะเล” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่คว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประเภทรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีมาก ประจำปี 2564 ในงาน NRCT Talk เปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 8

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีภารกิจที่สำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนผลงาน ผลผลิต ผลิตภัณฑ์ กรรมวิธี กระบวนการวิธี มาตรการ หรือระบบตลอดจนวิทยาการต่าง ๆ ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ ในครั้งนี้ วช. ได้มอบรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีมาก ประจำปี 2564 ให้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล แห่งภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากเป็นนักวิจัยที่มีความคิดริเริ่มและอุทิศตนเพื่องานวิจัย ได้สร้างองค์ความรู้ทางการวิจัยที่สำคัญ ในการสกัดสมุนไพรจากแสมทะเลมาใช้แก้ปัญหาผมร่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล กล่าวว่า “ผลิตภัณฑ์แก้อาการผมร่วงชนิดแอนโดรจินิค-อโลเพเชียจากสารสกัดแสมทะเล เป็นการศึกษาสารสกัดแสมทะเล (Avicennia marina, AM) และสารบริสุทธิ์ avicequinone C (AC) ที่แยกได้จากแสมทะเล ซึ่งสามารถออกฤทธิ์เชิงบวก(Positive) ในระดับกลไกที่สามารถต้านอาการผมร่วงได้แบบ 2 In 1 โดยเริ่มตั้งแต่การยับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจนที่มีมากเกินไปกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการสร้าง hair growth factors โปรตีนที่เป็นปัจจัยของการเกิดผม ได้อย่างน้อย 2 ชนิด คือ VEGF และ HGF ทำให้นำไปสู่การพัฒนาสูตรตำรับในแบบเฉพาะ สูตรตำรับในรูปแบบนี้จะเป็นสารละลายทาที่บริเวณหนังศีรษะ เพื่อให้สารออกฤทธิ์เข้าสู่รูเส้นผมไปสู่เซลล์ dermal papilla ที่บริเวณรากเส้นผมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการพัฒนาสูตรที่เป็นไปได้หลายสูตร ช่วยต่อยอดผลิตภัณฑ์จากสารสกัดแสมทะเล ลดการนำเข้าและสามารถส่งออกไปสู่ต่างประเทศที่มีมูลค่าทางการตลาดสูง เพื่อสร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์ได้”

ผลิตภัณฑ์แก้อาการผมร่วงชนิดแอนโดรจินิค-อโลเพเชียจากสารสกัดแสมทะเล ได้นำไปทดลองกับอาสาสมัคร โดยเริ่มจากถ่ายภาพศีรษะของอาสาสมัครทุกมุม รวมทั้งใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องบริเวณที่ผมหลุดร่วงเพื่อดูลักษณะการหลุดร่วงของเส้นผมและนัดหมายอีก 1 เดือน ถ่ายรูปในตำแหน่งเดิมเพื่อดูการเปลี่ยนแปลง โดยทำอย่างนี้ต่อเนื่องเป็นเวลา 4 เดือน

พบว่า เพียงแค่เดือนแรกที่ใช้สารสกัดแสมทะเล บริเวณศีรษะที่ล้านเริ่มมีผมดำแซมขึ้นจนปิดรอยที่เกิดจากการหลุดร่วง จำนวนผมที่หลุดร่วงเวลาสระผมลดลง เส้นผมแข็งแรง ยึดติดกับหนังศีรษะได้ดีขึ้น ที่สำคัญไม่ปรากฏว่าผู้ใช้สารสกัดแสมทะเลมีอาการแพ้แต่อย่างใด


“ปัจจุบันโรงงานเภสัชกรรมเกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่า จำกัด ได้ยื่นขอใช้สิทธิในผลงานประดิษฐ์เพื่อการขยายผลต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์และการพัฒนาผลงานไปสู่เชิงพาณิชย์แล้ว ขณะนี้อยู่ในช่วงทดลองกับอาสาสมัครรอบสุดท้าย คาดว่าจะเกิดเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอางได้ในอีก 3 เดือนต่อจากนี้ โดยการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยชี้ให้เห็นว่าเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ มีความปลอดภัยกว่ายาสังเคราะห์แผนปัจจุบัน และมีราคาที่ถูกกว่าในราคาหลักร้อยบาท นับเป็นงานวิจัยจากหิ้งไปสู่ห้างอย่างแท้จริง” ศาสตราจารย์ ดร.วันชัย กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับแสมทะเล (SAMAE THALE) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Avicennia marina Forsk ชื่อวงศ์Avicenniaceae และมีชื่อเรียกอื่นๆว่า แสม แสมขาว (ภาคกลาง), แหม แหมเล (ภาคใต้), ปีปี(กระบี่), ปีปีดำ (ภูเก็ต ), แสมขาว,พีพีเล (ตรัง), Olive mangrove, Grey mangrove
เป็นไม้ขนาดเล็ก สูงประมาณ 5-8 เมตร มีลักษณะเป็นพุ่ม ส่วนใหญ่ มีสองลำต้น เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปรีปลายใบมนถึงแหลมเล็กน้อย ขนาด1.5-4×3-12เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งมีผลรูปไข่กว้าง เบี้ยว ถึงเกือบกลม ส่วนที่ใช้ทำยาคือ แก่น เป็นไม้เบิกนำที่ขึ้นได้ดีในที่โล่งติดชายฝั่งทะเล หรือพื้นที่ดินเลนงอกใหม่ที่ดินค่อนข้างเป็นทราย
แก่นแสม มีสารสำคัญกลุ่มพอลิแซกคาไรด์ (polysaccharides) รายงานการวิจัยปัจจุบัน ลดการอักเสบและรักษาแผล ต้มกับน้ำแก้กษัย โดยมากต้มรวมกับแก่นแสมสารเป็นยาขับเลือดเสียในสตรี ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องยาตรีสาร ตรีสารประกอบด้วย แก่น 3 ชนิด คือ แสมสาร แสมทะเล และขี้เหล็ก
ขอบคุณข้อมูลแสมทะเลจาก-กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข