สทน. จับมือ วศ. ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์พัฒนาด้านวัสดุศาสตร์ ผลิตชุดป้องกันรังสีจากยางธรรมชาติ-วัสดุสำหรับอวกาศ
วันที่ 22 กันยายน 2564 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) และกรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อผลิตชุดป้องกันรังสีจากยางธรรมชาติ การนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น กระบวนการเคลือบผิวชั้นนอกของดาวเทียมที่โคจรอยู่ในชั้นอวกาศใกล้โลก และการพัฒนาสูตรยางคอมปาวด์ (Rubber Compound) เพื่อให้มีความแข็งแรงมากขึ้น พิธีลงนามจัดขึ้น ณ ห้องอัครเมธี ชั้น 6 อาคารตั้ว ลพานุกรม ผู้ร่วมพิธีประกอบด้วย รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ
รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน ) เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่างสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ สทน. กับกรมวิทยาศาสตร์บริการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาเพื่อช่วยสนับสนุนการวิจัยพัฒนาด้านเทคโนโลยี งานวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ และวัสดุสำหรับอวกาศ การสร้างผลิตภัณฑ์ และหรือนวัตกรรมการนำไปใช้ประโยชน์ภาคอุตสาหกรรม
ตลอดจนดำเนินการถ่ายทอด แลกเปลี่ยน และพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่บุคลากรซึ่งกันและกัน ซึ่งจะเป็นก้าวย่างสำคัญท่ีจะช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมของไทยให้มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและมีความเข้มแข็งมากขึ้น เช่น การผลิตชุดป้องกันรังสีจากยางธรรมชาติ สำหรับนำไปใช้ป้องกันรังสีจากการปฏิบัติงานทางรังสี หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากรังสี การพัฒนากระบวนการเคลือบผิว ที่สามารถนำไปใช้ปกป้องผิวชั้นนอกของดาวเทียมที่โคจรในชั้นอวกาศใกล้โลกโดยวิธีการพลาสมา และงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาสูตรยางคอมปาวด์ (Rubber Compound) โดยกระบวนการวัลคาไนซ์ด้วยลำอิเล็กตรอนด้วยวิธีการฉายรังสีเพื่อให้มีความแข็งแรงมากขึ้น
สำหรับขอบเขตความร่วมมือ กรมวิทยาศาสตร์บริการจะรับผิดชอบในการจัดเตรียมวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในงานวิจัย และทดสอบสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ศึกษาวิจัย สทน. จะรับผิดชอบการทดสอบสมบัติทางรังสีและปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในงานด้านนิวเคลียร์ และทั้งสองฝ่ายร่วมกันตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งานของวัสดุ หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากงานวิจัยในสภาวะการใช้งานจริง ความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนางานวิจัยด้านวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการสร้างผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรม ยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือต่อยอดโครงการวิจัยต่าง ๆ อีกด้วย สำหรับงบประมาณการดำเนินงานทั้งสองฝ่ายจะใช้งบประมาณของแต่ละหน่วยงานตามขอบเขตความร่วมมือ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี