กทม.ร่วมกับ We! Park - สสส. เปิดตัว “สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์” เพิ่มพื้นที่สีเขียวพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะแห่งใหม่กลางกรุง


กทม.ร่วมกับ We! Park และ สสส. เปิดตัว “สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์” เพิ่มพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก จากพื้นที่รกร้าง ที่ดินไม่ได้ใช้ประโยชน์ เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะแห่งใหม่กลางกรุง สร้างสุขภาพให้คนเมือง พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน


เมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่บริเวณสวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวในกิจกรรมส่งมอบสวนสาธารณะ “วัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์” ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กในเมือง We! Park ว่า กทม. โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ we! park สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาพื้นที่ว่างในเมืองให้เป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียว ตามนโยบาย Green Bangkok 2030 โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้อย่างน้อย 10 ตารางเมตร/คน ภายในปี 2573 ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียว 7 ตารางเมตร/คน โดยเห็นโอกาสจากพื้นที่ว่างภายในเมืองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียว เช่น พื้นที่ว่างรกร้าง พื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่เหลือจากการพัฒนา ฯลฯ ประกอบกับการกำหนดอัตราภาษีที่ดินใหม่ที่เรียกเก็บภาษีพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในอัตราถึงร้อยละ 0.3 ทุก 3 ปี ซึ่งเริ่มบังคับใช้ในปี 2563 ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้สนใจบริจาคพื้นที่เพื่อสร้างประโยชน์แก่ส่วนรวม เช่นกรณีของที่ดินของสวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ ที่มีผู้บริจาคเพื่อสร้างเป็นสวนสาธารณะ

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ กล่าวว่า สสส. มุ่งสร้างเสริมให้คนไทยมีสุขภาวะ การพัฒนาให้เกิดพื้นที่สุขภาวะที่ประชาชนเข้าถึงได้เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้คนมีสุขภาพดีใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของชุมชน เป็นพื้นที่สำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่ม สามารถสร้างความรู้สึกร่วม และความผูกพันของชุมชน เล็งเห็นปัญหาการขาดแคลนพื้นที่สาธารณะสีเขียวในเขตเมือง ที่ส่งผลต่อสุขภาวะทางกายใจ และสภาพแวดล้อมของเมือง จึงได้สนับสนุนโครงการ We! Park ที่เกิดจากการรวมตัวกันของผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเมืองและพื้นที่สาธารณะ ประกอบด้วย สถาปนิก ภูมิสถาปนิก สหวิชาชีพและผู้ที่สนใจในการพัฒนาเมือง เพื่อพัฒนาพื้นที่ว่างในเมืองให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่มีคุณภาพและยั่งยืน ผ่านกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมทั้งคุณภาพชีวิตและเกิดระบบนิเวศเมืองที่เป็นมิตรกับทุกคน

นายยศพล บุญสม ผู้จัดการโครงการ We! Park กล่าวว่า We! park เป็นแพลตฟอร์มด้านการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียว มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมผ่านการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ สำหรับ “สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์” เป็นการใช้พื้นที่ว่างซอยใกล้วัดหัวลำโพงเป็นพื้นที่นำร่อง ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ว่างในเขตชุมชนที่อยู่อาศัยใจกลางเมืองตั้งอยู่ในย่านที่มีความเจริญและมีความหนาแน่นสูง มีวัด โรงเรียน อาคารสำนักงาน อาคารชุดพักอาศัย แต่ขาดพื้นที่สีเขียว

โดยพื้นที่ “สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์” มีขนาด 1,048 ตารางเมตร (0.7 ไร่) จึงริเริ่มและพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ พัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวขนาดเล็ก (Pocket Park) ที่มีขนาดพื้นที่ระหว่าง 80 – 3,200 ตารางเมตร (ไม่เกิน 2 ไร่) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวในระยะ 400 เมตร หรือในระยะเวลา 5 นาทีได้อย่างทั่วถึง ตามนโยบายเกณฑ์พื้นที่สาธารณะเขียวแบบใหม่ขององค์การสหประชาชาติ (UN) และองค์การอนามัยโลก (WHO)

“แนวคิดในการออกแบบ “สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์” คือ “สวนข้างบ้าน” โดยแบ่งพื้นที่รองรับการใช้งานที่หลากหลาย มีเส้นทางวิ่งล้อมรอบ มีการใช้พืชพรรณพื้นบ้านตกแต่ง เป็นต้น เราพัฒนาพื้นที่โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในทุกระดับและขั้นตอน มีการรับฟัง ความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและออกแบบพื้นที่ร่วมกัน เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ทิ้งร้าง ให้กลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวเพื่อผู้คนอย่างแท้จริง ที่นี่จะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดเล็ก ไปจนถึงการเป็นพื้นที่รวมตัวทางสังคมของคนในพื้นที่ มีการบริหารจัดการดูแลพื้นที่ในระยะยาวโดยชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมสัมพันธ์กันระหว่างคนในชุมชนที่เข้ามาใช้พื้นที่ร่วมกัน” นายยศพล กล่าว