อว. แถลงผลสำเร็จหนุนสินค้าหัตถกรรมพื้นเมืองภาคเหนือตอนบน กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์สู่ตลาดยุค New Normal

“อว. แถลงผลสำเร็จหนุนสินค้าหัตถกรรมพื้นเมืองภาคเหนือตอนบน กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์สู่ตลาดในยุค New Normal”

จากการที่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้สนับสนุนการอบรมโครงการ “การยกระดับผลิตภัณฑ์หัตถกรรมชุมชนในภาคเหนือตอนบนด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์ และทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรท้องถิ่นสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และการเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่มูลค่าของผลิตภัณฑ์” ที่มุ่งพัฒนาทักษะ องค์ความรู้ ศักยภาพบุคลากรและผู้ประกอบการหัตถกรรมพื้นเมือง ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา แพร่ และจังหวัดน่าน ให้สามารถพัฒนาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นเมืองที่มีความแตกต่างและโดดเด่นตรงกับความต้องการของตลาดในยุค New Normal โดยใช้นวัตกรรมและวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของหน่วยงาน อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และสมาคมวัฒนหัตถศิลป์ล้านนา

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564 เวลา 14.00 น. ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ ลานโปรโมชั่น 1 Promotion Area 2 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเป็นประธานปิดโครงการอบรมเพื่อเพิ่มสมรรถนะด้านการออกแบบสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการหัตถกรรมพื้นเมือง สำหรับตลาดในยุค New Normal (Creative Design Competency Enhancement of Local Craft Entrepreneurs for New Normal Market Workshop)”, Koyori Project 2021 พร้อมเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นเมือง ที่เป็นผลสำเร็จจากโครงการ และพัฒนาโดยกลุ่มผู้ผลิตชุมชน กลุ่มนักออกแบบวิชาชีพ กลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่หรือทายาทชุมชนรุ่นใหม่ ซึ่งมีผลงานได้รับรางวัล10 ผลิตภัณฑ์ จากผลงานเข้าประกวด 10 ผลิตภัณฑ์

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการที่ วช. มุ่งเน้นการดำเนินงาน เพื่อส่งเสริมการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มีความเข้มแข็ง ด้วยวิจัยและนวัตกรรม โดยที่ผ่านมา วช. ได้ให้การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนโดยการส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์พื้นเมือง ผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อสร้างให้มีมูลค่าเพิ่ม สร้างการเรียนรู้ ฝึกอาชีพ และเพิ่มความมั่นคงด้านรายได้ครัวเรือน โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ วช. ได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมโครงการ เรื่อง “การยกระดับผลิตภัณฑ์หัตถกรรมชุมชนในภาคเหนือตอนบนด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์ และทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรท้องถิ่นสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและการเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่มูลค่าของผลิตภัณฑ์” แก่ ดร. สุรพล ใจวงศ์ษา แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เพื่อเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงองค์ความรู้จากงานวิจัยขยายผลสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรม ในเขตภาคเหนือตอนบนให้เข้มแข็งและยั่งยืน


ทั้งนี้ จากการสนับสนุนโครงการดังกล่าว ได้เห็นผลสัมฤทธิ์ที่สร้างความสำเร็จความพึงพอใจให้กับผู้ประกอบการหัตถกรรมพื้นเมืองอย่างมาก ซึ่งจากการดำเนินโครงการดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานหลักที่จะสร้างเศรษฐกิจระดับฐานรากให้มีความเข้มแข็งเพื่อเป็นพื้นฐานเชื่อมโยงในการพัฒนาประเทศต่อไป

อีกทั้งการดำเนินกิจกรรมโครงการยังก่อให้เกิดการสืบทอดวัฒนธรรมชุมชน วิชาชีพ อาชีพ จากรุ่นเก่า สู่รุ่นใหม่ โดยมีการพัฒนาการออกแบบลวดลายผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์เข้ากับยุคสมัย มีช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นเมืองที่เข้ากับยุคปัจจุบันที่มุ่งเน้นการตลาดแบบ New Normal ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐที่มุ่งเน้นให้เกิดรายได้ อาชีพ จากชุมชน ลดการทิ้งถิ่นฐานทำกินได้อย่างเป็นรูปธรรม

