อพวช. ร่วมจัดกิจกรรม Workshop “The Belt and Road Space Maker Camp Project” ครั้งแรกของไทย ส่งเสริมเยาวชนพัฒนาดาวเทียม “Cubesat”
อพวช. ร่วมจัดกิจกรรม Workshop “The Belt and Road Space Maker Camp Project” ครั้งแรกของประเทศไทย ส่งเสริมเยาวชนไทยพัฒนาดาวเทียม “Cubesat” ภายใต้โครงการ The 5th Belt and Road Teenager Maker Camp & Teacher Workshop
เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2564 องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ Children & Youth Science Center of CAST (CYSCC) ในเครือ China Association for Science and Technology (CAST) ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน จัดกิจกรรม Workshop “The Belt and Road Space Maker Camp Project ” รูปแบบออนไลน์ ประกอบอุปกรณ์ดาวเทียมขนาดเล็ก “Cubesat” ภายใต้โครงการ The 5th Belt and Road Teenager Maker Camp & Teacher Workshop โดยได้รับเกียรติจาก ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวต้อนรับและเปิดกิจกรรมฯ ดังกล่าว
คุณแกรี่ เวน ผู้อำนวยการผลิตภัณฑ์เพื่อการศึกษาด้านอวกาศของ Commsat จากCYSCC เป็นวิทยากรสอนประกอบ “Cubesat” ให้แก่ทีมเยาวชนไทย ซึ่งมีทีมที่ถูกคัดเลือกจากการแข่งขัน Thailand CANSAT-ROCKET Competition เข้าร่วมจำนวน 4 ทีม ได้แก่ 1. ทีม H.T.malee club โรงเรียนหารเทารังสีประชาสรรค์ จ.พัทลุง 2. ทีม TARA จาก โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.นครศรีธรรมราช 3. ทีม blinded by the dark จาก โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง 4. ทีม Ursa Minor และ NAV Capsule จาก โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
ทั้งนี้ กิจกรรมฯ ดังกล่าว หวังสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนในการเรียนรู้เทคโนโลยีอวกาศและเทคโนโลยีดาวเทียม และการมีส่วนร่วมในระดับนานาชาติของเยาวชนไทย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศต่อไป
สำหรับกิจกรรม “The Belt and Road Space Maker Camp Project” เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมโครงการ The 5th Belt and Road Teenager Maker Camp & Teacher Workshop จัดโดย Children & Youth Science Center of CAST (CYSCC) ในเครือ China Association for Science and Technology (CAST) ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีเยาวชนเข้าร่วมโครงการกว่า 65 ประเทศทั่วโลก และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เป็นหน่วยงานหลักในประเทศไทยที่มีส่วนสำคัญในการจัดกิจกรรมฯ ดังกล่าว โดยการจัดส่ง “Cubesat” ให้แก่ทีมเยาวชนไทย พร้อมจัด Workshop ประกอบดาวเทียมขนาดเล็ก “Cubesat” พร้อมทดลองปล่อยโดยบอลลูนด้วยระดับความสูง 300 – 500 เมตร เก็บข้อมูลเพื่อการรองรับภารกิจทางวิทยาศาสตร์
โดยผลงานของทีมเยาวชนในครั้งนี้ถือเป็นก้าวที่สำคัญด้านเทคโนโลยีอวกาศและเทคโนโลยีดาวเทียม โดยความร่วมมือระหว่าง อพวช. และ CYSCC ครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมอีกขั้นในการส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้เยาวชนไทยได้มีศักยภาพพร้อมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต
ข้อมูล “Cubesat”
“Cubesat” คือ ดาวเทียมขนาดเล็ก (10x10x10 ซม. น้ำหนัก 1 กิโลกรัม) ซึ่งมีทุกระบบตามมาตรฐานของดาวเทียมปกติ (การควบคุมให้อยู่ในระดับความสูงและวงโคจร การรับสัญญาณและการส่งสัญญาณการสื่อสาร ระบบพลังงานแบตเตอรี่ การยึดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ แผงวงจรควบคุมและการจัดเก็บข้อมูลโดย CPU รวมไปถึงสิ่งอื่นๆ ที่ติดตั้งไปด้วยเช่น เซ็นเซอร์ขนาดเล็กและกล้องถ่ายภาพ)
นอกจากนี้ยังมีการควบคุมการกางและขยับ ของแผงโซล่าเซลและเสาอากาศ โดยมีข้อจำกัดการควบคุมวงโคจรของดาวเทียม “Cubesat” คือน้ำหนักของเครื่องยนต์ในระบบเผาไหม้ซึ่งต้องใช้ขนาดเล็ก การรับส่งสัญญาณด้วยคลื่นช่วง S-Band ถูกแทนด้วยคลื่นช่วง VHF / UHF การถ่ายโอนข้อมูลแบบไร้สาย (wireless) ของ CubeSat กำลังมีการเริ่มต้นที่จะนำมาใช้
สำหรับการส่งดาวเทียม “Cubesat” ขึ้นไปยังวงโคจรต้องใช้เวลาตระเตรียมประมาณสองปี เริ่มตั้งแต่จากเงินทุนจนถึงปล่อยในวงโคจร ค่าฮาร์ดแวร์ของ CubeSat เป็นปกติอยู่ในช่วง 50-100 k € (2 – 4 ล้านบาท) และอาจไปได้ถึง 500 k € (20 ล้านบาท) สำหรับดาวเทียมที่มีการทำงานหลายภารกิจ ปัจจุบันมีดาวเทียม “Cubesat” ประมาณ 50 ดวงที่ปล่อยสำเร็จ ประมาณ 100-150 ดวงมีการเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดตัว ในอนาคต แต่ข้อจำกัดอีกข้อหนึ่งคือ “Cubesat” ขนาดเล็กเกินไปสำหรับบรรจุเซ็นเซอร์สำหรับการวิจัย ทางวิทยาศาสตร์ที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากและใช้พลังงานมาก
ดังนั้นสำหรับวัตถุประสงค์หลักของการพัฒนาน่าจะเป็นการสร้างกลุ่มของดาวเทียม “Cubesat” ที่มีการติดตั้งกับ sensor ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ใช้พลังงานน้อย แล้วปล่อยเป็นโครงข่าย เพื่อรองรับภารกิจทางวิทยาศาสตร์ต่อไป เช่น ใช้ในทางอุตุนิยมวิทยา ใช้ในทาง การเฝ้าระวังน้ำท่วม หรือ แผ่นดินไหวต่อไปในอนาคต