สกสว.จัดประชุมร่วม PMU ดันแผนนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์
สกสว.จัดประชุมร่วม PMU เตรียมผลักดันแผนงานการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ มุ่งเน้น นวัตกรรมพร้อมใช้ ขยายผลเชิงพาณิชย์
เมื่อเร็วๆนี้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ประจำปีงบประมาณ 2565 ร่วมกับผู้บริหารหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม (PMU) รวมถึง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ศลช. (TCELS) และ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (NVI) หน่วยบริหารจัดการทุนเฉพาะทาง ด้านการขยายผล ที่เพิ่งเข้าร่วมเป็นปีแรก เพื่อแจ้งถึงเกณฑ์การคัดเลือกผลงานวิจัยที่สามารถนำไปขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในประเด็นเป้าหมาย คือ ชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก อาหารมูลค่าสูง การแพทย์และสุขภาพ และดิจิทัลแพลตฟอร์มและระบบปัญญาประดิษฐ์
โอกาสนี้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ กล่าวถึงหลักเกณฑ์การคัดเลือกการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ว่า แต่ละ PMU จะต้องพิจารณาและคัดเลือกโครงการวิจัยตามที่ได้กำหนดไว้ คือ
- เป็นผลงานวิจัยหรือนวัตกรรม ที่มีความพร้อมในการถ่ายทอด ขยายผลหรือเป็นผลงานที่เคยมีการทดลองใช้ในพื้นที่ต้นแบบอื่น ๆ และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
- มีอุปสงค์หรือความต้องการจริง (Demand) จากพื้นที่หรือกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในระดับผู้ใช้ประโยชน์ต้นน้ำหรือปลายน้ำ (1st users และ End users)
- ขนาดของผู้ได้รับประโยชน์ (End users/Beneficiaries)
- ขนาดของผลกระทบ การวัดผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI หรือ Return on Investment) การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคม (SROI หรือ Social Return on Investment)
- ศักยภาพและความพร้อมของกลุ่มเป้าหมายในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์
- ความแตกต่างของกระบวนการ วิธีการ หรือสิ่งที่ใช้อยู่เดิมในพื้นที่ กับผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะนำไปขับเคลื่อน
- ความพร้อมของหน่วยขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ในพื้นที่ .
. . โดยแต่ละประเด็น PMU ที่เกี่ยวข้องจะต้องหารือร่วมกันอีกครั้งหลังจากรับทราบเกณฑ์การคัดเลือกแผนงานการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และข้อเสนอโครงการในวันนี้ เพื่อนำส่งแผนงานและข้อเสนอโครงการดังกล่าวมาที่ สกสว.นำเสนอต่อคณะอนุกรรมการด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เพื่อพิจารณากลั่นกรอง ก่อนเสนอต่อที่ประชุม กสว. ต่อไป . .
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า นอกจากเกณฑ์การพิจารณา ทั้ง 7 ข้อ ที่กล่าวมาแล้วนั้น สกสว. ยังได้กำหนดแนวทางการคัดเลือกเพิ่มเติมในบางประเด็น เช่น โครงการวิจัยประเด็นชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก จะต้องเห็นระดับของการขยายผลเชิงการสร้างผลกระทบ (Impact) ที่ไม่ใช่แค่การสร้างต้นแบบ แต่เป็นการเพิ่มจำนวนนวัตกรรมชุมชน สัดส่วนรายได้ที่ช่วยสร้างความเข็มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก ในระยะ 1-2 ปี เช่นเดียวกับประเด็นอาหารมูลค่าสูง และการแพทย์สุขภาพ ที่ไม่ใช่แค่การวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรม หรือ ต้นแบบการผลิต แต่เน้นไปที่ความสามารถสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย โดยมีเอกชนพร้อมร่วมทุน ที่สร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า 2 เท่าของงบประมาณการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ . .
ที่สำคัญเกณฑ์การคัดเลือกดังกล่าว นอกจากจะทำให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังสามารถทำให้การจัดสรรงบประมาณ ของงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร้อยละ 20 เพื่อผลักดันการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในปีแรกนี้ เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนั้น ในการประชุมวันนี้ ยังเปิดโอกาสให้ PMU ได้นำเสนอตัวอย่างโครงการที่พิจารณาว่าเข้าเกณฑ์ที่จะขับเคลื่อนสู่การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอีกด้วย