อว.มอบ “นวัตกรรมตู้ล็อคเกอร์ปลอดเชื้อควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน” รับเปิดประเทศ
อว. พร้อมรับการเปิดประเทศ นำ “นวัตกรรมตู้ล็อคเกอร์ปลอดเชื้อควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน” ของ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ที่ได้รับการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นปีงบประมาณ 2564 มอบให้สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ 904, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) , กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.)และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ไปใช้ป้องกันการติดเชื้อจากการสัมผัส และลดอัตราการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รมว.หนุนผลิตเชิงพาณิชย์จำหน่าย
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)เป็นประธานในพิธีส่งมอบฯ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, รองศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ,และดร.วิภารัตน์ ดีฮ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)เป็นผู้ร่วมส่งมอบนวัตกรรมฯ โดยมี นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.), นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ(พก.), และพลโท พิเศษ ศิริเกษม รองเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) รองศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา (ผู้แทนสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ 904) เป็นผู้รับมอบนวัตกรรมฯ ณ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถนนโยธี กรุงเทพมหานคร
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวว่า ขอชื่นชมนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ของไทยที่นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรมที่ช่วยให้คนไทยได้อยู่รอดปลอดภัยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และพร้อมรับการเปิดประเทศ ที่ผ่านมา หลังจากเกิดวิกฤติโควิด คนไทยปรับตัวได้ดีมาก โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เราสามารถเร่งผลิตภาพได้สูงขึ้นมาก ผลิตวัคซีนได้ทันกับประเทศแนวหน้าของโลก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของไทยที่เราสามารถผลิตวัคซีนได้เองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ขณะเดียวกัน ยังผลิตห้องความดันลบ ชุด PPE หน้ากากความดันบวก ฯลฯ ที่ราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศหลายเท่า
“นวัตกรรมตู้ล็อคเกอร์ปลอดเชื้อควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน” ก็เช่นกัน เป็นอีกหนึ่งฝีมือคนไทยจากสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา หลังจากนี้ ตนหวังว่าจะได้เห็นการนำนวัตกรรมตู้ล็อคเกอร์นี้ไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ หรือถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เอกชนนำไปผลิตและจำหน่ายในท้องตลาด และสำหรับนักวิจัย ขอแจ้งข่าวดีว่า ขณะนี้ อว. เปิดช่องให้นักวิจัยหรืออาจารย์สามารถนำผลงานประดิษฐกรรมหรือนวัตกรรมเหล่านี้มาเสนอขอรับการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการได้ โดยไม่ต้องทำเป็นผลงานทางวิชาการหรือตำรา เพื่อเปิดโอกาสให้กับทุกคนที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง
รองศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กล่าวว่า นวัตกรรมตู้ล็อคเกอร์ปลอดเชื้อควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับประกาศเกียรติคุณ ประจำปี 2564 จาก วช. การใช้งานของนวัตกรรมตู้ล็อคเกอร์ปลอดเชื้อควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน สามารถเลือกใช้งานได้ถึง 3 ระบบจากการสั่งงานผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน อาทิ การอบฆ่าเชื้อด้วยก๊าซโอโซน การอบฆ่าเชื้อด้วยรังสี UV- และการอบฆ่าเชื้อด้วยความร้อน โดยควบคุมการทำงานด้วยเทคโนโลยีสมองกลฝังตัวร่วมกับระบบการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง(IOT) จะช่วยให้ผู้ใช้งานควบคุมการทำงานในแต่ละระบบได้ด้วยตนเองผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของผู้ใช้งาน ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานมีความมั่นใจในความปลอดภัยของอุปกรณ์ที่นำไปฆ่าเชื้อด้วยตนเองได้
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์และการวิจัยและพัฒนา และหน่วยงานบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมได้ให้การสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมด้านเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม แก่สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ในการพัฒนานวัตกรรมตู้ล็อคเกอร์ปลอดเชื้อควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อช่วยลดอัตราการแพร่ระบาดของไว้รัสโควิด- 19 สำหรับการฆ่าเชื่ออุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนบุคคลขนาดเล็กทั่วไป เช่น กุญแจ แว่นตา นาฬิกา รวมถึงเหรียญและธนบัตร ซึ่งสามารถลดโอกาสการติดเชื้อ และการแพร่กระจายเชื้อลงได้ ซึ่งเป็นอีกแนวทางสำคัญที่ช่วยควบคุมการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ได้
สำหรับ “นวัตกรรมตู้ล็อคเกอร์ปลอดเชื้อควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน” เป็นผลงานของนักวิจัย นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กนกวรรณ เรืองศิริ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และทีมงานประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ .ดร.ปรีชา กอเจริญ อาจารย์สายัณห์ ฉายวาสและคณะนักศึกษา
นักศึกษาในทีมวิจัยเปิดเผยว่า ตู้ล็อคเกอร์ทำงานผ่านแอปพลิเคชั่น Disinfection Locker ที่สามารถดาวน์โหลดโทรศัพท์สมาร์ทโฟนทั้งระบบAndriod และ iOS สามารถฆ่าเชื้อโรคทั่วไปและเชื้อโรคโควิด-19 ได้
แรงบันดาลใจในการสร้างผลงานนี้มาจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้มีความคิดเห็นร่วมกันว่า น่าจะพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีความปลอดภัยในการใช้ชีวิตในยุคNewnormal เป็นอุปกรณ์ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน เหมาะสำหรับการให้บริการบริเวณสถานที่สาธารณะ
ตู้ล็อคเกอร์ปลอดเชื้อมีการทำงาน 3 ระบบ ได้แก่ ระบบการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน ที่ช่วงอุณหภูมิ 56-60 องศาเซลเซียส ภายใน 30 นาที ระบบการฆ่าเชื้อด้วยโอโซน ที่มีความเข้มข้นสูงกว่า 2.5 ppmภายใน 5 นาที และระบบฆ่าเชื้อด้วยรังสี UV-C ภายใน 30 นาที โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลศึกษาการใช้งานในแต่ละระบบเพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน
สำหรับประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อของ ระบบความร้อนอยู่ที่ 99% ระบบ UV-C อยู่ที่ 99% และระบบโอโซนอยู่ระหว่างรอสรุปผลการศึกษาระยะเวลาใช้งานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและปลอดภัย
ทั้งนี้ระบบโอโซนใช้ได้กับกระเป๋าโทรศัพท์มือถือ กล่องพัสดุ กุญแจ ระบบ UV-C ใข้ได้กับธนบัตรและหน้ากากอนามัย และระบบความร้อนใช้ได้กับซองจดหมาย และหนังสือ
อนาคตจะพัฒนาต่อเนื่องเพื่อสร้างความเสถียรในการใช้แอปพลิเคชั่นระบบiOS และจะให้สามารถใช้งานได้กับทุกระบบ รวมถึงการผลิตในเชิงพาณิชย์ซึ่งจะทำให้มีราคาถูกลง