มูลนิธิเด็กเยาวชนฯ เปิดตัว “หนังสือผีเสื้อขยับปีก” สะท้อน คดีล่วงละเมิดทางเพศ เหยื่อไม่กล้าร้องความยุติธรรม
มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เปิดตัว “หนังสือผีเสื้อขยับปีก” สะท้อน คดีล่วงละเมิดทางเพศ เหยื่อไม่กล้าร้องความยุติธรรม พบเกิดคดีเฉลี่ย 14 ราย/วัน ชงออกกฎหมายคุ้มครองเฉพาะ เสริมพลังใจสร้างความเข้มแข็งให้ผู้เสียหาย ด้านสสส. หนุน ถอดบทเรียนคดีล่วงละเมิด พัฒนาองค์ความรู้เพื่อผู้ถูกกระทำ แก้ปัญหาสุขภาวะยั่งยืน
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดตัว “หนังสือผีเสื้อขยับปีก” เพื่อบอกเล่าความรุนแรงในเด็กและครอบครัว พร้อมแนะวิธีป้องกันปัญหาและต่อสู้ด้วยข้อกฎหมายในกระบวนการยุติธรรม
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมขับเคลื่อนโครงการปกป้องเด็กและเยาวชนเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเสพติด การพนัน และอุบัติเหตุต่างๆ ร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง โดย สสส. ได้ผลักดันให้เกิดการถอดบทเรียนองค์ความรู้ การทำงานข้ามศาสตร์ ข้ามองค์กร เพื่อหาข้อค้นพบต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินคดีล่วงละเมิดในเด็กและเยาวชนที่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องกระบวนการยุติธรรมระหว่างการต่อสู้เพื่อสิทธิ โดย สสส. และภาคีเครือข่ายได้พัฒนาจัดทำ “หนังสือผีเสื้อขยับปีก” ที่สะท้อนเรื่องราวของผู้ถูกกระทำที่กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้ ไม่ยอมจำนนกับปัญหาที่เข้ามาในชีวิต โดยเนื้อหาในหนังสือได้บอกเล่าเรื่องราวของผู้ที่ถูกกระทำที่กล้าลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเอง โดยมีคดีเด็กหญิงอายุ 14 ปี ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศและกระทำความรุนแรงจากคนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงทางภาคใต้มานานนับปี ที่หน่วยงานต้องเข้าไปช่วยเหลือ เรียกร้องความยุติธรรมให้ผู้เสียหายนานกว่า 3 ปี ที่ศาลฎีกาได้พิพากษา จำคุกจำเลยทั้ง 11 คน ตั้งแต่ 15 ปี ถึงตลอดชีวิต
“ขอส่งแรงใจถึงผู้ที่ถูกกระทำจากปัจจัยเสี่ยงทางสังคมที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้พลังใจจาก สสส. ส่งไปถึงทุกคนให้ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรม สู่การเปลี่ยนแปลงตัวเองในประเทศนี้ ให้สามารถยืนหยัดและหนักแน่นในการต่อสู้ โดยขอให้เชื่อว่ามีหน่วยงานภาคีเครือข่ายส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่พร้อมให้ความช่วยเหลือและยืนหยัดเคียงข้างอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้มีใครโดดเดี่ยวหรือต่อสู้ลำพัง” ดร.สุปรีดา กล่าว
ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาในแง่ที่เป็นการคุ้มครองเหยื่อหรือผู้เสียหายในปัจจุบันถือว่าดี เพราะสามารถฟ้องดำเนินคดีได้ด้วยตัวเอง มีมาตรการคุ้มครองเหยื่อ แต่คดีทางเพศเป็นคดีที่มีความอ่อนไหวจึงต้องอาศัยผู้ที่มีองค์ความรู้เฉพาะทางวางแนวทางแก้ปัญหา เพราะคดีลักษณะนี้เกิดกับคนเปราะบาง กระทบจิตใจและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ บั่นทอนกำลังใจผู้ถูกกระทำระหว่างต่อสู้คดี นอกจากนี้จะเห็นว่าหลักฐานต่างๆ จะอยู่ในที่ลับบนเนื้อตัวของผู้เสียหาย การจะได้มาซึ่งหลักฐานพยานจึงยุ่งยาก ซับซ้อน และอาจถูกทำลายได้ง่าย
ผศ.ดร.ปารีณา กล่าวต่อว่า กฎหมายที่มีอยู่ในแง่ของการคุ้มครองผู้เสียหาย ถ้าเป็นผู้หญิงการคุ้มครองมีเพียงให้สอบสวนโดยพนักงานหญิง หากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ก็จะมีสหวิชาชีพซึ่งไม่เพียงพอ อีกทั้งยังทำคดีแยกส่วนถือเป็นช่องว่างของการทำคดีทางเพศที่ไม่ได้เอาตัวผู้เสียหายมาร่วมดำเนินคดีเต็มตัว
ทั้งนี้จากการอ่านหนังสือผีเสื้อขยับปีกคิดว่ามีอีกหลายคดีที่ไม่ได้ต่อสู้ เพราะผู้ถูกกระทำหรือครอบครัวไม่รู้ข้อกฎหมาย ขณะที่บางส่วนอาจไม่มั่นใจกระบวนการยุติธรรม เพราะไม่รู้ว่าสังคมจะมองอย่างไร ถูกมองมีมลทินหรือไม่ จะเชื่อเขาหรือไม่ โดยเฉพาะถูกกระทำจากคนในครอบครัว คนใกล้ชิด คนที่มีอำนาจเหนือกว่า
“หนังสือผีเสื้อขยับปีกนี้เรามีกลไกหลายอย่างที่สามารถสร้างพลังของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดให้คดีสำเร็จ และออกกฎหมายคดีทางเพศใหม่ที่สามารถคุ้มครองผู้ถูกกระทำทุกคน เพื่อให้ผู้เสียหายกล้าเรียกร้องความยุติธรรม ช่วยให้เขามีชีวิตปกติ หรือใกล้เคียงปกติที่สุด และยังมีกฎหมายอีกหลายอย่างที่เกี่ยวเนื่องกันนั้นต้องมีการปรับแก้ให้สอดคล้องกันด้วย” ผศ.ดร.ปารีณา กล่าว
นางสาวนริศา อดิเทพวรพันธุ์ ผู้แทนรัฐมนตรีว่ากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า จากคดีเด็กหญิงอายุ 14 ปี ทางภาคใต้ที่ถูกคนในชุมชนและใกล้เคียงล่วงละเมิดทางเพศ ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าคดีจะสิ้นสุดถือเป็นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ใจของผู้ถูกกระทำและครอบครัว แต่ก็ได้รับการช่วยเหลือประคับประคองครอบครัวจนก้าวผ่านมาได้ ทั้งนี้ความช่วยเหลือจาก พม. หน่วยงาน มูลนิธิที่เกี่ยวข้องเปรียบเสมือนลมใต้ปีกช่วยพยุงผีเสื้อบาดเจ็บให้โบยบิน กลับมามีชีวิตใหม่อย่างมีคุณค่า แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงกระบวนการช่วยเหลือ ทั้งนี้ จากข้อมูลปี 2561 มีเด็กและเยาวชนถูกกระทำความรุนแรงและถูกล่วงละเมิดทางเพศ 14,237 ราย ปี 2562 จำนวน 15,797 ราย ในจำนวนนี้เป็นความรุนแรงทางเพศ 5,191 ราย คิดเป็น 32.9% เฉลี่ยวันละ 14 ราย ส่วนใหญ่ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิดที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติด หากใครพบเห็นสามารถโทรแจ้งได้ที่สายด่วน 1300 หรือขอคำปรึกษาช่วยเหลือได้ที่บ้านพักเด็กและครอบครัวทั่วประเทศ
ขณะที่ นางทิชา ณ นคร ที่ปรึกษามูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า ภาพรวมการข่มขืนสังคมไทยสะท้อนปัญหาสังคม 2 ภาพพร้อมกัน คือ 1.ตัวผู้กระทำที่ขาดสำนึกผิดชอบชั่วดีอย่างรุนแรง ภาพที่ซ้อนใต้ภาพนี้คือ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำหรือจะเรียกว่าโครงสร้างในเชิงมิติชายเป็นใหญ่ เฉพาะกรณีเกาะแรด พังงาคือความเป็นชุมชน สังคม เครือญาติที่รู้จักคุ้นเคยใกล้ชิด เมื่อ 3 ภาพนี้หมุนอยู่ในพิกัดเดียวกัน ผู้กระทำกลุ่มที่เป็นข่าว จึงกระทำต่อเด็กหญิงอย่างยาวนาน ข้ามเดือน ข้ามปีด้วยความลืมตัว ฮึกเหิม ในฐานะผู้ติดตามข่าวเราเห็น 3 ภาพนี้ชัดเจน โดยเฉพาะความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากันระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ซึ่งเป็นจุดบอดที่ต้องถูกช่วย ถูกเสริมพลัง เมื่อตัดสินใจว่าต้องทำอะไรมากกว่าแค่การติดตามข่าวเราก็ขยับและเคลื่อนไหวโดยนำประสบการณ์จากคดีค้ามนุษย์น้ำเพียงดิน แม่ฮ่องสอนมาทบทวนต่อยอดเดินหน้า หากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบคดี ซึ่งมีทั้งบ้านพักเด็ก กระทรวงพม. และทีมคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกระทรวงยุติธรรม
ทั้งนี้ งานข้ามศาสตร์ ข้ามองค์กรในคดีเกาะแรด พังงา ชัดเจนว่า ลงตัว ราบรื่นกว่าคดีค้ามนุษย์น้ำเพียงดิน แม่ฮ่องสอนโดยเฉพาะรัฐมีในสิ่งที่ภาคประชาสังคมไม่มี เช่น การบังคับใช้กฎหมายบ้านพัก เซฟเฮาส์ แต่ภาคประชาสังคมก็มีในสิ่งที่รัฐไม่มี เช่น การเสริมพลังใจเหยื่อ และเปลี่ยนเหยื่อเป็นพยาน จนนำไปสู่การสืบพยานที่ได้ความจริงเชิงลึก และชัดเจน สามารถลงโทษผู้กระทำได้ ดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ทุกคนได้ทราบแล้ว โทษของผู้กระทำคือการเยียวยาผู้ถูกกระทำได้ในระดับหนึ่ง
“แต่สิ่งที่จะเยียวยาผู้ถูกกระทำในคดีที่สร้างบาดแผลใจอย่างลึกซึ้ง คือสิทธิที่จะถูกลืม หรือการได้ชื่อ นามสกุล เลข 13 หลักใหม่โดยอัตโนมัติ รวมถึงการเริ่มต้นในถิ่นฐานใหม่อย่างมั่นคง ซึ่งหมุดหมายแรกของสิทธิที่จะถูกลืมต้องมาจากฝ่ายกฎหมายจะเขียนอย่างไร จะผลักดันผ่านช่องทางใด และประกาศใช้เมื่อไหร่ เพราะนั่นคือมาตรการการเยียวยาที่ดีที่สุด” นางทิชา กล่าว
สำหรับผู้ที่สนใจหนังสือ “ผีเสื้อขยับปีก” ที่ถ่ายทอดเนื้อหาบทเรียน กรณีคดีละเมิดทางเพศเด็กหญิงบ้านเกาะแรด จังหวัดพังงา จำหน่ายในราคา 250 บาท โดยรายได้จากการจำหน่ายหนังสือ มอบให้เป็นทุนในการดำเนินชีวิตของครอบครัวผู้เสียหายคดีเกาะแรด สามารถสอบถามสั่งซื้อได้ที่เพจ มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว โทร.02-0481950