ซีพีเอฟขับเคลื่อน “สุขภาพหนึ่งเดียว” ผลิตอาหารมั่นคง ปลอดภัย ใส่ใจคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม
ซีพีเอฟ ขับเคลื่อน “สุขภาพหนึ่งเดียว” ผลิตอาหารมั่นคง ปลอดภัย ใส่ใจคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ นำหลักการ “สุขภาพหนึ่งเดียว” (One Health) ยึดมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์และการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรับผิดชอบและสมเหตุผล ส่งเสริมการผลิตอาหารมั่นคงและปลอดภัย เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
นายสัตวแพทย์พยุงศักดิ์ สมยานนทนากุล รองกรรมการผู้จัดการ ด้านมาตรฐานอาหารสากลและความยั่งยืน ในฐานะประธานคณะกรรมการสวัสดิภาพสัตว์ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ภายใต้หลักการ “สุขภาพหนึ่งเดียว” ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ซีพีเอฟ เสริมประสิทธิภาพการเลี้ยงสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์สากล (Animal Welfare) หรือ หลักอิสระ 5 ประการ มุ่งเน้นให้สัตว์มีสุขภาพดีเป็นหลัก ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ ครอบคลุมกิจการทั้งในไทยและกิจการในต่างประเทศ ให้สัตว์ได้รับน้ำและอาหารอย่างเพียงพอ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี สามารถแสดงพฤติกรรมของสัตว์ได้ตามธรรมชาติ และเมื่อเจ็บป่วยได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิชาการ
นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังมีนโยบายบริษัทฯ ด้านการใช้ยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial) ครอบคลุมยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ด้วยความรับผิดชอบและสมเหตุผล ซึ่งการใช้ยาต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของสัตวแพทย์และใช้เพื่อการรักษาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยเฉพาะหลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านจุลชีพประเภทที่ใช้ทั้งในคนและสัตว์ (share-class antimicrobials) และใช้เมื่อจำเป็นอย่างระมัดระวัง โดยจะเลือกใช้ยาสำหรับสัตว์เป็นลำดับแรก และร่วมทำงานกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเพื่อพัฒนาวิธีการใหม่ๆ ที่ดีกว่าในการดูแลสัตว์ตามหลักการสวัสดิภาพสัตว์
ปัจจุบันสัตว์ในฟาร์มของ ได้รับการเลี้ยงดูตามหลักอิสระ 5 ประการ ภายใต้การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรับผิดชอบและสมเหตุผล 100% เพื่อผลิตเนื้อสัตว์ปลอดภัย สู่กระบวนการผลิตนวัตกรรมอาหารเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในอนาคตที่ให้ความสำคัญกับสุขโภชนาการควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้งในประเทศไทยและกิจการในต่างประเทศ เช่น นวัตกรรมโปรตีนสัตว์จากพืช (Plant-based Protein) หมูชีวา เนื้อหมูมีโอเมก้า 3 ไก่เบญจา ซึ่งได้รับการรับรองการเลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดู
“ทั้งองค์การอนามัยโลก องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ต่างให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านสุขภาพระดับโลก One Health อย่างเข้มแข็ง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้เชี่ยวชาญ เกษตรกร ตลอดจนผู้บริโภค เป็นความร่วมมือหนึ่งเดียวในการลดโอกาสเกิดเชื้อดื้อยา โดยคำนึงถึงสุขภาพของ คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน เพื่อป้องกันโรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” นายสัตวแพทย์พยุงศักดิ์ กล่าวย้ำ
ซีพีเอฟ กำหนดเป้าหมายสำคัญภายใต้กลยุทธ์ความยั่งใหม่ “CPF 2030 Sustainability in Action” เพื่อส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนในอีก 9 ปีข้างหน้า ที่ยังคงตอกย้ำความสำเร็จ 3 เสาหลัก อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดิน น้ำ ป่า คงอยู่ ซึ่งสวัสดิภาพสัตว์ เป็น 1ใน 9 ความมุ่งมั่นด้านอาหารมั่นคง ในการส่งเสริมแม่สุกรอุ้มท้องอยู่ในคอกขังรวม 100% เพิ่มกำลังการผลิตไก่ไข่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระในโรงเรือนปิด 30% เทียบกับปี 2563 และการเลี้ยงไก่เนื้อได้รับการเสริมสภาพแวดล้อมทางกายภาพ มี แกลบ กระสอบทราย ลูกบอล และคอน ให้ไก่ได้แสดงพฤติกรรมจิกและเกาะตามธรรมชาติ ภายในปี 2573 ปัจจุบันสัตว์ในฟาร์มของบริษัทฯ 100% ได้รับการเลี้ยงดูตามหลักอิสระ 5 ประการ ภายใต้การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรับผิดชอบและสมเหตุผล
นายสัตวแพทย์พยุงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ซีพีเอฟ บริหารจัดการธุรกิจตามหลักสวัสดิภาพสัตว์และการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรับผิดชอบและสมเหตุผล บนพื้นฐานทางวิทยาศาตร์ ด้วยตระหนักดีว่าแนวทางปฏิบัติดังกล่าวส่งผลดีต่อคุณภาพของเนื้อสัตว์และการผลิตอาหารปลอดภัย สร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภค ช่วยลดต้นทุน การสูญเสีย และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในตลาดโลก ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทานดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน สร้างห่วงโซ่การผลิตที่เข้มแข็ง ตรวจสอบย้อนกลับได้ตั้งแต่ต้นทางการผลิต จนถึงปลายทางสู่มือผู้บริโภค
ซีพีเอฟ ยังพัฒนานวัตกรรมสวัสดิภาพสัตว์และติดตั้งเทคโนโยลีระบบ “Smart Farm” เช่น ระบบ Smart Eyes มาใช้ในฟาร์มไก่เนื้อ ให้สามารถติดตามสวัสดิภาพสัตว์ การกินอาหารและน้ำของสัตว์ แบบ Real-Time ให้ไก่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีและเหมาะสมตลอดช่วงการเลี้ยง ลดการเข้าออกของพนักงาน ลดความเสี่ยงของโรคและการสัมผัสจากมนุษย์ เป็นต้น
ซีพีเอฟ ยังมีการวัดผลการส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ (Welfare Outcome Measures : WOMs) เพื่อประเมินว่าสัตว์ได้รับการปฏิบัติสวัสดิภาพชั้นสูง ส่งเสริมสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร และกุ้ง ตลอดจนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสวัสดิภาพสัตว์ ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ตามหลักมนุษยธรรม ลดผลกระทบต่อสัตว์อย่างรอบคอบ ตามเป้าหมาย “สุขภาพหนึ่งเดียว” ที่เชื่อมโยงความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดีของ คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เข้าด้วยกัน./