วช.เตรียมจัดงาน ‘ มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564’ วิจัย พัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่ง ยั่งยืน 22-26 พ.ย.64นี้
วช. เตรียมจัดงาน ‘ มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564’ วิจัยและพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่ง และยั่งยืน วันที่ 22-26พ.ย.64 นี้ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
วันนี้ (16 พฤศจิกายน 2564) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศ แถลงการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021)” ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 22 – 26 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ภายใต้คอนเซ็ปต์หลัก “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” เพื่อเป็นเวทีสำคัญในการสร้างเครือข่ายการวิจัยของไทยที่มีศักยภาพไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ กระจายโอกาสในการเข้าถึงฐานข้อมูลความรู้การวิจัยและนวัตกรรม พร้อมเปิดตัวทูตวิจัย “เพื่อน คณิณ” ตัวแทนพลังคนรุ่นใหม่
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับการจัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยไทย” และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ต่องานวิจัยไทย โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน“มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021)” ซึ่งเป็นเวทีระดับชาติ ที่นำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ทั้งในมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม/ชุมชน และพาณิชย์/อุตสาหกรรม ภายใต้ความร่วมมืออันดีระหว่างหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
โดยปีนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 16 โดยปีนี้มีหน่วยงานเข้าร่วมมากกว่า 100 หน่วยงาน ผลงานไม่ต่ำกว่า 500 ผลงาน โดยจะดึงไฮไลท์ผลงานที่โดดเด่นมาพูดคุย และแลกเปลี่ยนกัน ให้เกิดแผนงานและโครงการใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น สามารถหยิบยกผลงานที่น่าสนใจไปใช้ประโยชน์ต่อได้ในทุกภาคส่วน”
ภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ หรือ Thailand Research Expo ประกอบด้วย นิทรรศการ อาทิ “นิทรรศการรางวัลแห่งเกียรติยศ Platinum Award” และ “นิทรรศการชุมชนเข้มแข็งในระบบวิจัยและนวัตกรรม” การประชุม/สัมมนาในหัวข้อสำคัญของประเทศ กิจกรรม Highlight Stage นำเสนอผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ที่มีความพร้อมใช้ประโยชน์ ทั้งในระดับชุมชน องค์กร และพาณิชย์ กิจกรรม Thailand Research Symposium 2021 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยในสาขาวิชาการต่าง ๆ ให้ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานวิจัยที่มีคุณภาพต่อผู้สนใจและผู้ใช้ประโยชน์ พร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ในศาสตร์สาขาวิชาการในประเด็นสำคัญอื่น ๆ
กิจกรรมประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา 2564 การมอบรางวัล Thailand Research Expo 2021 Award และ กิจกรรม Research Clinic ให้คำปรึกษาเรื่องการวิจัย โดยสำหรับ MASCOT ในปีนี้ ได้แก่ “น้องวิจัย” พร้อมเปิดตัว “ทูตวิจัย” ประจำปี 2564 “เพื่อน คณิน ชอบประดิถ” เพื่อเป็นตัวแทนพลังคนรุ่นใหม่ที่มีความช่างสังเกต เรียบง่าย และสามารถเข้าถึงงานวิจัยใกล้ตัวได้ นอกจากนี้ มีการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากร้านค้าภาครัฐ เอกชนและโครงการในพระราชดำริ
โดยผลงานที่นำมาเสนออยู่ใน 7 ประเด็น ได้แก่ งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคมและสิ่งแวดล้อม งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์โรคอุบัติใหม่ งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อน BCG Economy Model และงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
นิทรรศการเด่น- รางวัลแห่งเกียรติยศ Platinum Award”
ทั้งนี้ส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยที่น่าสนใจ อาทิ “นิทรรศการรางวัลแห่งเกียรติยศ Platinum Award” โดยรศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้รับรางวัลในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติปี 2563 ในฐานะผู้สนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นการขับเคลื่อน BCG Economy Model ปีนี้มทร.ธัญบุรีมาร่วมงานโดยชูแนวคิด “ผ้าไทย…รักษ์โลก..ใส่ได้ทุกวัน ทุกวัย” เสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยและผ้าทอจากเส้นใยกล้วย ผลงานวิจัย “การพัฒนาเส้นใยกล้วยในงานแฟชั่นเครื่องแต่งกายและเคหะสิ่งทอ(ผ้าใยกล้วยบัวหลวง)” ของคณะนักวิจัยอาจารย์ภายในมหาวิทยาลัย ผศ.ดร.สาคร ชลสาคร,คุณบุญนภา บัวหลวงและคณะ
งานวิจัยนี้เกิดขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าต้นกล้วยหอมและกล้วยน้ำว้าของจังหวัดปทุมธานี ที่มีการปลูกกล้วยจำหน่ายมากกว่า 30,000 ไร่ ซึ่งต้นกล้วยต้องถูกทิ้งจำนวนมหาศาลราว 30,000 ตันต่อปีภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วในกลุ่มคลัสเตอร์ธุรกิจกล้วยครบวงจรคลองเจ็ดและบริษัทวัน บานา น่า จำกัด จังหวัดปทุมธานี จึงมีการเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับเครือข่ายวิจัยของมหาวิทยาลัย เพื่อนำต้นกล้วยมาใช้ประโยชน์เพิ่มนอกเหนือจากการทำปุ๋ยบนดิน โดยนำส่วนกาบกล้วยมาแยกสกัดเส้นใย ปั่นเป็นเส้นด้าย ทอเป็นผืนผ้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเคหะสิ่งทอ
นับว่านอกจากงานวิจัยนี้จะช่วยลดวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตกล้วย ยังช่วยสร้างมูลค่าด้านการพัฒนาเส้นใยในอุตสาหกรรม ลดการนำเส้นใยธรรมชาติจากต่างประเทศ อีกทั้งมีการนำองค์ความรู้จากการงานวิจัย “โครงการพัฒนาเส้นใยกล้วย เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายและเคหะสิ่งทอจังหวัดปทุมธานี” สู่ชุมชนกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน ต.กระแซง อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ส่งเสริมการใช้งานให้เกิดขึ้นจริง และดร.พินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ตั้งชื่อให้ว่า “ผ้าใยกล้วยบัวหลวง” สร้างอัตลักษณ์ผ้าจากเส้นใยกล้วยของจังหวัด จนกลายเป็นผ้าประจำจังหวัดปทุมธานี
สำหรับ อีก Platinum Award จากปีเดียวกัน ได้แก่ ผลงานด้านพันธุกรรมข้าวของกรมการข้าว “นวัตกรรมข้าวไทยรองรับการส่งออกของตลาดโลก” โดยดร.รณชัย ช่างศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมข้าว กรมการข้าว เปิดเผยว่า เดิมกรมการข้าวพัฒนาพันธุ์ข้าวโดยมุ่งเน้นให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูง ก่อนเน้นแก้ปัญหาที่เป็นจุดอ่อนของพันธุ์ข้าวต่าง ๆ เช่น ให้ทนโรค และทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมและร่วมภาคีเครือข่ายวิจัยพัฒนาส่วนกลางน้ำและปลายน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อตอบโจทย์ตลาดโลก เพื่อไทยเป็นผู้นำส่งออกข้าวและเพื่อการกินดีอยู่ดีของผู้ปลูกข้าว
การแข่งขันในตลาดโลก ทำให้ไทยจำเป็นต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีความแตกต่างโดดเด่นทั้งในเรื่องของความหอม รสชาติ ผลผลิตและเทคโนโลยีการผลิตที่ลดต้นทุน ซึ่งเส้นทางการพัฒนาพันธุ์ข้าวผสม พันธุ์พ่อ-แม่ มีการคัดเลือกจนมีความคงตัวทางพันธุกรรมจนถึงการรับรองพันธุ์ใช้เวลานานประมาณ 8-10 ปีและใช้งบประมาณราว 30 ล้านบาทต่อ 1 พันธุ์ แต่เมื่อพี่น้องชาวนานำไปปลูกจะสามารถถึงจุดคุ้มทุนได้ตั้งแต่ฤดูแรกที่ปลูก
ทั้งนี้ “นวัตกรรมข้าวไทยรองรับการส่งออกของตลาดโลก” ที่พัฒนาได้มี 6 สายพันธุ์ กข79(ชัยนาท62) รับรองพันธุ์ปี 2562, กข85และ กข87 รับรองพันธุ์ปี 2563 ทั้ง 3 พันธุ์นี้เป็นข้าวเจ้า ไม่ไวต่อช่วงแสง อายุ 118-120 วัน มีผลผลิตต่อไร่สูง ส่วนอีก 3 พันธุ์เป็นไวต่อช่วงแสง ได้แก่ หอมใบเตย 62 รับรองพันธุ์ปี 2562 มีความเหนียว นุ่มกลิ่นหอม, เม็ดฝ้าย 62 รับรองพันธุ์ปี 2562 มีเมล็ดดำ มีฤทธิ์ใช้เป็นโภชนเภสัชได้, และ ขาวเจ๊กชัยนาท 4 มีกลิ่นหอม รับรองพันธุ์ปี 2563 และในปี 2564นี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ด้วย
นอกเหนือจากนี้ทางกรมการข้าวและเครือข่ายยังร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อเร่งรับรองพันธุ์ข้าวใหม่ เพื่อการพาณิชย์ภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าวไทย 5 ปี (2564-2567) จำนวน 12 พันธุ์ แบ่งเป็นข้าวหอม 2 พันธุ์ ข้าวพื้นนุ่ม 4 พันธุ์ ข้าวพื้นแข็ง 4 พันธุ์และข้าวโภชนาการสูง 2 พันธุ์
สำหรับผลงานอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ โฉมใหม่ของเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ “PETE เปลปกป้อง” สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่ง ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ นักวิจัยอาวุโส หน่วยวิจัยการออกแบบและวิศวกรรม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า เป็นการวิจัยร่วมกันของเอ็มเทคและสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยพัฒนาต่อยอดจากรุ่นเก่าให้สามารถนำผู้ป่วยเข้าเครื่อง X-ray และอุโมงค์ CT scanได้เลย เพื่อสแกนปอดขณะอยู่บนเปลหรือขณะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล รองรับน้ำหนักผู้ป่วยได้สูงสุด 250 กิโลกรัม การเพิ่มเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยต่าง ๆ เช่นมาตรฐานทางไฟฟ้าที่เป็นมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ IEC 60601-1 เพื่อทำให้นวัตกรรมของไทยแข่งขันได้ในระดับสากล ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ได้มีการส่งมอบให้สถานพยาบาลต่าง ๆ ในกรุงเทพฯและปริมณฑลรกระจายผลงานไปทั่วประเทศมากกว่า 60 ชุด
ทั้งนี้ผู้สนใจ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ทั้งรูปแบบ Online และ Onsite ผ่านทางเว็บไซต์ www.researchexpo.nrct.go.th โดยรูปแบบ Onsite วช.ขอจำกัดเฉพาะผู้ลงทะเบียนล่วงหน้า ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 2 เข็ม และผ่านกระบวนการคัดกรองตามตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติม โทร. 0-2579-1370 ต่อ 515,517,518,519 และ 524