วช. เปิดเวทีงานวิจัย Research Expo Talk “นวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจ” ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564

วช. เปิดเวทีงานวิจัย Research Expo Talk นำ “นวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจ”ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564
ช่วงเช้าวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดเวที “Research Expo Talk” เปิดตัว “นวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจ” ของ ดร.วรรณา เลาวกุล แห่ง กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ (Thailand Research Expo 2021)

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเวที กล่าวว่า ตลอดการจัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ (Thailand Research Expo 2021) ทั้ง 5 วัน มีรูปแบบการจัดงานที่หลากหลายและผู้เข้าร่วมในแต่ละวันจะสามารถเข้าไปพูดคุยรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อให้เห็นภาพความสามารถของนักวิจัยไทย และ ในวันนี้เป็นวันที่ 2 มีกิจกรรมที่หลากหลายและมีผลงานการวิจัยมากมายที่นำเสนอด้วย และ วันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ฉายภาพไว้ชัดเจนให้เห็นถึงความสำคัญกับงานวิจัยทุกขอบข่ายด้วย

ดร.วรรณา เลาวกุล หัวหน้าคณะวิจัยจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การวิจัยได้ร่วมกับวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจ เป็นการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการประเมินความเสี่ยงมะเร็งของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี


โดยนวัตกรรมดังกล่าว มีคุณสมบัติใช้งานง่าย เพียงเป่าลมหายใจเข้าไปในเครื่อง ใช้เวลาประมวลผลเพียง 20 วินาที สามารถประเมินผลออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ ว่ามีแนวโน้มควรเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งหรือไม่ ปัจจุบันทดสอบการใช้งานนวัตกรรมฯ กับผู้ป่วยมะเร็งปอดและกลุ่มคนปกติในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พบว่า ประสิทธิภาพของนวัตกรรม มีความแม่นยำถึง 70% ในอนาคตจะพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม นำไปขยายผลประเมินความเสี่ยงของประชาชนผู้ได้รับหรือสัมผัสสารมลพิษทางอากาศ เช่น พื้นที่ปัญหาหมอกควัน
เป็นต้น หากภาคเอกชนที่สนใจสามารถร่วมบูรณาการพัฒนาอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป



วช. หวังว่านวัตกรรมอุปกรณ์ประเมินความเสี่ยงมะเร็งจากลมหายใจดังกล่าว จะที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม ในการช่วยคัดกรองโรคมะเร็งได้อย่างง่าย และลดภาระค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งสามารถเข้ารับการตรวจได้สะดวก รวดเร็ว และหากพบว่าเป็นมะเร็งเบื้องต้น ก็จะสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างถูกวิธี

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ (Thailand Research Expo 2021) ยังมีเวลาอีก 3 วัน ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 สามารถเดินทางมาชมผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิร์ด กรุงเทพฯ