ชวน ..ชม ชิม ช้อป “ปลาช่อนพร้อมทาน” งาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564
ยังมีเวลาสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เข้าชมงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021)” ครั้งที่ 16 ซึ่งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 22-26 พฤศจิกายน 2564 ณ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
สำหรับนักชิม นักช้อป มีผลงานวิจัยดี ๆ ที่อยากแนะนำ รับประกันได้ว่าจะต้องถูกใจอย่างแน่นอน นั่นคือ “ปลาช่อนวิเศษ บ้านห้วยคันแหลน” ผลงาน ของรศ.ดร.เจษฎา อิสเหาะ และ คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มทร.สุวรรณภูมิ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่นำมาโชว์ทั้งผลิตภัณฑ์ปลาช่อนพร้อมรับประทาน
และการแปรรูปปลาช่อนให้ไปอยู่ในขนม…เรียกว่า ทานขนมหวาน นอกจากได้ความหวาน ได้คาร์โบไฮเดรต ยังได้โปรตีนแถมไปอีกต่างหาก
รศ.ดร.เจษฎา อิสเหาะ และ คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มทร.สุวรรณภูมิ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เดิมใน ปี 2560 ผู้เลี้ยงปลาช่อนของกลุ่มสหกรณ์ประมงและแปรรูปอ่างทอง มีสมาชิกผู้เลี้ยงปลาช่อนทั้งหมดจำนวน 50 ราย มีบ่อจำนวน 94 บ่อ สามารถผลิตปลาได้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 1,500,000 กิโลกรัมต่อปี สามารถขายปลาได้ในราคา 120-180 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ต้นทุนการผลิตมีค่าเท่ากับ 63 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรมีกำไรประมาณ 2-3 เท่า ของต้นทุนการผลิต
แต่เมื่อเข้าปี 2561 ได้มีปลาช่อนจากประเทศเพื่อนบ้าน (ปลาเขมร) ได้ทะลักเข้าสู่ตามแนวชายแดนอรัญประเทศ ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาอย่างหนัก เนื่องจากปลาช่อนราคาตก ราคาลดเหลือ 60-70 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงเกิดหนี้สินเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่หลักแสนถึงหลักสิบล้านบาท
ทางคณะนักวิจัยจึงเข้าไปศึกษาเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา จากการศึกษาพบว่า นอกจากปัญหาปลาช่อนราคาตกแล้ว เกษตรกรยังประสบปัญหาในกระบวนการผลิต ยังขาดระบบการเลี้ยงที่ดี ต้นทุนการผลิตสูง ขาดองค์ความรู้และเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในกระบวนการผลิต ขาดมาตรฐานในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ คุณภาพเนื้อปลาที่ได้ไม่ดีมีไขมันมากสู้ปลาเขมรไม่ได้ และขาดช่องทางการตลาดถูกพ่อค้าผูกขาดไม่สามารถต่อรองราคาได้
โดยมุ่ง แก้ปัญหาให้กับเกษตรกร คือ 1.ลดต้นทุนการผลิต 2. เพิ่มมูลค่าของผลผลิต และผลิตภัณฑ์จากปลาช่อนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 3. สร้างกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การดำเนินการในครั้งนี้ทำให้ได้ทั้งด้านองค์ความรู้และผลิตภัณฑ์หลายอย่างด้วยกัน อาทิ
เทคนิคการอนุบาลชำลูกปลาช่อนในกระชังบ่อดิน ในระบบปิด โดยนำลูกปลาขนาด 1 นิ้ว (ต้นทุนตัวละ 1 บาท) มาอนุบาลในกระชัง(ที่มีเนื้อกระชังนิ่ม)ประมาณ 2 เดือน เพื่อแก้ปัญหาอัตราการรอดตายในระยะเริ่มต้น พบว่ามีอัตราการรอดตายเพิ่มขึ้น 20% ช่วยลดปัญหาปลาดาบ มีลักษณะหัวโตตัวลีบ แก้มตอบ ทำให้ขายไม่ได้ราคาและถูกกดราคา ช่วยลดต้นทุนการผลิตด้านลูกพันธุ์ได้ 33% จากต้นทุน 3 บาทต่อตัว เหลือ 2 บาทต่อตัว
ได้องค์ความรู้ด้านเทคนิคการเลี้ยงปลาช่อนในกระชังที่แขวนในบ่อดิน ที่มีการติดตั้งเครื่องตีน้ำภายในบ่อ ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นครั้งแรกของเมืองไทย
เพราะตามหลักทางวิชาการพบว่า DO มีผลต่ออัตราการกินอาหารของสัตว์น้ำเป็นอย่างยิ่ง โดยพบว่าเมื่อ DO มีค่าต่ำกว่า 3.0 มก/ลิตร จะทำให้ระบบการกินอาหารและระบบการย่อยอาหารของปลาลดลง ทำให้ปลาไม่กินอาหาร หรือกินอาหารได้ลดลงเพราะระบบการย่อยอาหารไม่สมบูรณ์ ทำให้ปลาเจริญเติบโตได้ดี ขนาดตัวใหญ่ขายได้ราคา
นอกจากนี้ยังได้ความรู้อีกมากมายทั้งเรื่องการให้อาหารปลา เลี้ยงอย่างไรให้มีกำไร การเลี้ยงปลากินพืชร่วมด้วยซึ่งเป็นวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
กลุ่มเกษตรกรได้ขายปลาสด และแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นขนม ปลาพร้อมทานและอื่น ๆสามารถสร้างรายได้มากกว่า 1ล้านบาทต่อปี ปลดหนี้ได้ภายใน2 ปี
ผู้สนใจสามารถแวะมาชม ปรึกษาหาความรู้กับนักวิจัยได้ที่งาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021)” ครั้งที่ 16 ณ เวที Highlight Stage ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร