วว. -การยางแห่งประเทศไทย ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากชุมชน ส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้เกษตรกรไทย


วว. -การยางแห่งประเทศไทยลงนามความร่วมมือระยะ 3 ปี รวมจุดแข็งเสริมแกร่งตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ครอบคลุมร่วมใช้ทรัพยากร วิจัยพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากชุมชน ส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้เกษตรกรไทย โดยเฉพาะเกษตรกรปลูกยาง ผู้ประกอบและประชาชนผู้สนใจทั่วไป เตรียมนำร่องปรับการปลูกยางแบบใหม่เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบนพื้นที่กยท. 20,000 ไร่ พร้อมเปิดให้สื่อมวลชนเข้าชมห้องปฏิบัติการและอุปกรณ์เครื่องมือภายในศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ



ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ลงนามความร่วมมือในโครงการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ด้านการอบรม วิจัย พัฒนาและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี มุ่งส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ให้เกษตรกร สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มยางพารา ร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โอกาสนี้ ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. นายพิสิษฐ์ สุขอนันต์ ผอ. สำนักผู้ว่าการ กยท. ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมีผู้บริหารและบุคลากรทั้งสองหน่วยงาน ร่วมเป็นเกียรติ ร่วมเป็นสักขีพยาน ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ณ ห้องประชุม สถานีวิจัยลำตะคอง วว. จังหวัดนครราชสีมา

ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญในการบูรณาการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาคุณภาพของผลผลิตยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งในด้านการปลูก การเก็บเกี่ยวและการแปรรูป รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง มีผลงานวิจัยระดับประเทศและภูมิภาค มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการผลิตระดับอุตสาหกรรม รวมถึงมีความพร้อมของห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน การวิเคราะห์ทดสอบ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการถึงระดับโรงงานนำทาง นอกจากนี้นักวิจัยและบุคลากรของ วว. ยังมีความรู้ ความสามารถ และความมุ่งมั่นที่จะนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่มีผลักดันให้เกิดการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม

ความร่วมมือและการบูรณาการระหว่าง กยท. และ วว. ในครั้งนี้ นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก การรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกของสวนยางพารา ตลอดจนการแปรรูป สร้างมูลค่ายางพาราให้เป็นผลิตภัณฑ์ เพิ่มปริมาณการใช้น้ำยางพาราทดแทนยางสังเคราะห์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่การผลิต ซึ่งจะส่งผลให้มีพื้นที่ปลูกต้นยางพารามากขึ้น ทำให้เพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม และมีการส่งเสริมการปลูกพืชเสริม เช่น สมุนไพรที่มีความต้องการของตลาดสูง เพื่อป้อนให้แก่ภาคอุตสาหกรรมในการนำไปสกัดสารสำคัญและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามที่มีมูลค่าสูง สร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจในชุมชน ซึ่งจะช่วยยกระดับทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรของประเทศ สร้างเศรษฐกิจสีเขียว ส่งเสริมการยกระดับผลผลิตทางการเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร
“การทำ MOU ครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันของรัฐวิสาหกิจ วว.เป็นหน่วยงานวิจัย ส่วนกยท.มีบทบาทหลักด้านยางพาราที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก เป็นการทำงานเสริมกัน ตั้งแต่ต้นทางเป็นการปลูกยางให้เป็นสวนเกษตรปลอดภัย ทั้งยังใช้เป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดปัญหาเรือนกระจก โดยกยท. จะมีการปรับการปลูกยางรูปแบบใหม่เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งในเรื่องปัญหาเรือนกระจกและการสร้างรายได้แก่เกษตรกร วว.จะนำเทคโนโลยีไปช่วยเสริมทำให้เกษตรกรมีองค์ความรู้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นทางและกลางทาง ซึ่งมองว่า ส่วนน้ำยาง ถ้าเป็นการปลูกยางแบบประณีตและมีเทคโนโลยีเข้าไปสามารถที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ไม่จำเป็นต้องขายเป็นวัตถุดิบต้นทางเพียงอย่างเดียว ก็จะทำให้เกษตรกรมีอาชีพ สามารถที่จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ถือเป็นการเสริมจุดแข็งระหว่างกัน
ตัวอย่างเทคโนโลยีของวว. เช่น น้ำยางใช้ทำถุงมือผ้าเคลือบยา ด้านวัสดุก่อสร้างทำเป็นตัวกันกระแทก ส่วนหมอนยางพารา วว.ไม่ได้เป็นผู้ผลิตแต่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการใช้เทคโนโลยีใส่กลิ่นเข้าไป แก้ไขกลิ่นของยางพารา ทำให้ผู้ใช้มีความสบายมากขึ้น” ผู้ว่าการ วว.กล่าว

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า กยท. เป็นองค์กรหลักที่รับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราของประเทศไทยทั้งระบบอย่างครบวงจร และบทบาทหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การพัฒนางานวิจัยด้านยางพาราให้เกิดนวัตกรรม เทคโนโลยี เพื่อสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา เพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจและตลาด อีกทั้งส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ ความร่วมมือครั้งนี้จะมีการใช้ทรัพยากรหรือสินทรัพย์ของทั้งสององค์กรร่วมกันในการวิจัยและพัฒนาพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการวิจัยและพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพ บูรณาการ สร้างมูลค่าเพิ่ม และความสามารถในการแข่งขันด้านต่างๆ เพื่อลดต้นทุนที่ซ้ำช้อนขององค์กร ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ให้กลุ่มเกษตรกร รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน
ภายใต้กรอบความร่วมมือนี้จะมุ่งเน้นการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในพื้นที่สวนยางพารา ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการปล่อยหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจก และที่สำคัญเกษตรกรสามารถนำไปซื้อขายได้ เป็นการเพิ่มรายได้จากสวนยางอีกทางหนึ่ง ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยโครงการนำร่องจะนำสวนยางพาราของ กยท. 20,000 ไร่ ใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบศึกษา เพื่อนำข้อมูล ความรู้ที่ได้ มาถ่ายทอดสู่เกษตรกร/สถาบันเกษตรกรซาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง และผู้ที่สนใจทั่วไป
ซึ่งในปี 2565 กยท. จะขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย ทั้งนี้ เกษตรกรชาวสวนยางจะสามารถเพิ่มรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตในช่วงก่อนเปิดกรีดได้ ควบคู่กับการลดใช้ปุ๋ยเคมีและปัจจัยการผลิตต่างๆ รวมถึงลดการใช้เชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต หรือการขนส่ง ที่จะส่งผลก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะเป็นโครงการที่สร้างความร่วมมือระหว่าง กยท.และ วว. ในฐานะที่จะเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินโครงการร่วมกันต่อไป อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในอนาคต

“เรื่องการจัดการเรื่องคาร์บอนเครดิต เป็นผลสืบเนื่องทางยุโรปมีมาตรการคุมเข้มเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งทางรัฐบาลมีแผนการดำเนินการอย่างชัดเจนที่จะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ภายใน 30 ปี วันนี้จึงเป็นโอกาสที่ดี ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมทำให้มีความได้เปรียบในการบริหารจัดการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกออกมา โดยไทยมีเกษตรกรที่ปลูกยางพาราและขึ้นทะเบียนกับกยท. ประมาณ 20 ล้านไร่ จึงต้องขอบคุณวว.ที่จะช่วยเป็นพี่เลี้ยงและผลักดันทำให้เรื่องนี้เป็นรูปธรรมขึ้น โดยปีนี้ตั้งเป้าจะนำร่องทำบนพื้นที่ของกยท.ก่อนประมาณ 20,000 ไร่ในจ.นครศรีธรรมราช ถ้าประสบความสำเร็จจะขยายไปให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้วว.จะใช้สถานีวิจัยลำตะคองเป็นพื้นที่จัดอบรม บ่มเพาะการทำงานรูปแบบใหม่ ร่วมกับศูนย์การเรียนรู้ของกยท. เช่น สถาบันวิจัยยางที่มีอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ อาทิ หนองคาย บุรีรัมย์ ฉะเชิงเทรา สงขลา สุราษฎร์และแปลงเพาะต่าง ๆ ทุกจุดสามารถใช้ถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร โดยมีวว.เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงและยังมีหน่วยงานอื่นมาช่วยด้วย เป็นการใช้ทุกพื้นที่ให้เป็นประโยชน์
ในมุมมองของความยั่งยืนมองว่า เรื่องของราคายางเป็นสิ่งที่ควรต้องมีเสถียรภาพ ซึ่งขณะนี้ราคาน้ำยางมีแนวโน้มที่ดีขึ้นแล้ว แต่ด้วยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้ผลผลิตน้ำยางไม่มากและมีความต้องการยางฟื้นตัวประเทศผู้ใช้หลัก ๆ เพิ่มขึ้น และเรื่องการทำให้มีมูลค่าเพิ่ม โดยปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเรื่องของยางล้อ ถุงมือ หมอน ที่นอน แต่สิ่งที่จะทำเพิ่มมูลค่า โดยในปีนี้จะขยายใช้ในอีก 2 กลุ่มคือ เรื่องสุขภาพและการแก้ไขปัญหาเรื่องของน้ำ เช่น แผ่นปูน้ำ สายยาง อุปกรณ์กักเก็บน้ำ ตอบสนองเรื่องการเพิ่มมูลค่าและแก้ไขปัญหาของประเทศ ทั้งนี้ไทยมีการส่งออกยางดิบและผลิตภัณฑ์ประมาณ 400,000 ล้านบาท โดยมีจีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญและพยายามขยายไปยังประเทศอื่นๆด้วย” ผู้ว่าการ กยท. กล่าว

ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ วว. เป็นแกนหลักในการดำเนินงานภายใต้โครงการความร่วมมือดังกล่าว โดยจะดำเนินงานวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมวัสดุ รวมถึงสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม และสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน โดยผ่านการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐาน (shared service) คือ อาคารถ่ายทอดเทคโนโลยีสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ ตั้งอยู่ที่ สถานีวิจัยลำตะคอง วว. จังหวัดนครราชสีมา เพื่อรองรับการบริการแบบองค์รวม (Total solution) ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยงานวิจัย ยกระดับการทดลองผลิตเพื่อทดลองตลาดและการวิเคราะห์ทดสอบวัสดุผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้ประกอบการ ภาครัฐภาคเอกชน และเกษตรกร ในการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ บนพื้นฐานการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อรองรับกการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อาทิ นวัตกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ ทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์จากน้ำยางและผลิตภัณฑ์จากยางแห้ง
ขอบเขตความร่วมมือของ วว. และ กยท. เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ บูรณาการ สร้างมูลค่าเพิ่มและความสามารถในการแข่งขันในด้านต่างๆ ดังนี้


1.ใช้ทรัพยากรหรือสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจร่วมกัน ทั้งทรัพยากรจากการลงทุนโครงการต่างๆ หรือทรัพยากรที่เป็นสินทรัพย์ เช่น อาคาร เครื่องจักร ที่ดิน ห้องปฏิบัติการ เป็นต้น
2.ด้านการวิจัยและพัฒนา อาทิ ให้มีการดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาของทั้งสองหน่วยงานทางด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาคุณภาพของผลผลิตยางพารา รวมถึงผลิตภัณฑ์ยางหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับยาง การสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยางหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับยางให้มีการสนับสนุนโครงการวิจัยร่วมกันระหว่างสองหน่วยงาน โดยสนับสนุนด้านบุคลากร เครื่องมืออุปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญ ให้มีการใช้ห้องปฏิบัติการของทั้งสองหน่วยงาน รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลทาง การวิจัย และการประเมินผลทางการวิจัยร่วมกัน ให้มีการวิจัยและพัฒนาโรงเรือนเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา



3.ด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาบุคลากรทางการวิจัยและพัฒนา อาทิ ให้มีการร่วมกันพัฒนาบุคลากรของทั้งสองหน่วยงาน โดยการจัดฝึกอบรมและประชุมวิชาการ เพื่อแลกเปลี่ยนหรือถ่ายทอดความรู้ความความเข้าใจด้านเทคนิควิชาการ การถ่ายทอดองค์ความรู้หรือการฝึกอบรม ให้แก่ผู้มีส่วนด้านส่วนเสียของทั้งสองหน่วยงาน โดยการจัดฝึกอบรมและประชุมวิชาการ เพื่อแลกเปลี่ยนหรือถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจด้านเทคนิควิชาการ รวมทั้งนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปพัฒนาอาชีพเสริมของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราให้มั่นคงและยั่งยืน

ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีการลงนามความร่วมมือ ได้เปิดให้สื่อมวลชนเข้าชมห้องปฏิบัติการ พร้อมอุปกรณ์เครื่องมือภายในศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ โดยมีดร.ศิริพร ลาภเกียรติถาวร ผอ. ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ วว .(ขวา)-ดร.เจต พานิชภักดี นักวิจัยอาวุโส ร่วมให้ข้อมูล ส่วนอุปกรณ์เครื่องมืออาทิ เครื่องมือขึ้นรูปและเครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบต่าง ๆ อาทิ เครื่องผสมยางแบบต่อเนื่อง เครื่องทดสอบสมบัติเชิงกล เครื่องทดสอบการต้านทาน เครื่องทดสอบความแข็งอเนกประสงค์ เครื่องทดสอบความกดอัดโฟมยาง และอื่น ๆ อีกมากมาย







สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 0-2577-900 ,0 2577 9427 โทรสาร 0 2577 9426 E-mail : siriporn@tistr.or.th เว็บไซต์ www.tistr.or.th




