เนคเทค สวทช.ผนึก 11 มหาวิทยาลัยราชภัฏภาคอีสาน ส่งเสริมผลักดัน 5 นวัตกรรมเพื่อการศึกษา ตอบโจทย์โมเดล BCG
เนคเทค สวทช. ผนึกกำลัง 11 มหาวิทยาลัยราชภัฏภาคอีสาน ส่งเสริมและผลักดัน 5 นวัตกรรมเพื่อการศึกษาสำหรับภูมิภาคตอบโจทย์โมเดล BCG เพื่อพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ผนึกกำลังร่วมกับกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคตะวันออกเฉียง เหนือจำนวน 11 มหาวิทยาลัย ลงนามความร่วมมือการส่งเสริมและผลักดัน 5 นวัตกรรมเพื่อการศึกษาสำหรับภูมิภาคได้แก่ KidBright: บอร์ดสมองกลฝังตัว, ThaiJo หรือ Thai Journals Online: แพลตฟอร์มบริหารจัดการองค์ความรู้ (วารสาร) วิชาการของประเทศ, Massive Open Online Courses หรือ MOOC ระบบการศึกษาออนไลน์แบบเปิดเพื่อมหาชน, Navanurak Platform: ซอฟท์แวร์แพลตฟอร์มเพื่อการจัดเก็บข้อมูลทางวัฒนธรรม ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติ และ Museum Pool: ระบบบริหารจัดการเนื้อหานำชมพิพิธภัณฑ์ที่ประยุกต์ใช้เป็นโมไบล์แอปพลิเคชันนำชมได้ เพื่อกระจายสู่การใช้งานและพัฒนาชุมชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า หลายครั้งที่มีโอกาสได้เห็นผลงานวิจัยที่น่าสนใจของเนคเทค สวทช. ซึ่งสามารถสนับสนุนและส่งเสริมภาคการศึกษาของชุมชนในพื้นที่ได้ นับว่าสอดคล้องกับนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ต้องการเห็น มหาวิทยาลัยราชภัฏใช้ประโยชน์จากความรู้ความสามารถของคณาจารย์และเครือข่ายนักวิจัย จากความร่วมมือในครั้งนี้ อยากเห็นความร่วมมือในการสร้างนวัตกรรม ซึ่งราชภัฏก็มีจุดแข็ง ทำงานใกล้ชิดกับชุมชนและสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดเป็นรูปธรรม และมีความเป็นเลิศในหลายๆ ด้าน เช่น ด้านการสอนและให้ความรู้แก่ชุมชน การทำงานได้จริง ความรักถิ่นฐาน และที่สำคัญมีความรู้ความเข้าใจด้านภูมิศาสตร์ของตน
เพื่อตอบโจทย์นโยบายและยุทธศาสตร์รัฐบาล “เตรียมคนไทยแห่งศตวรรษที่ 21 พัฒนาเศรษฐกิจที่ กระจายโอกาสอย่างทั่วถึง สังคมที่มั่นคง และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยสร้างความเข้มแข็งทางนวัตกรรมระดับ แนวหน้าในสากล นําพาประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว” กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ โดยออกแบบให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดําเนินงานในลักษณะแพลตฟอร์ม (Platform) ความร่วมมือการพัฒนาใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) การพัฒนากําลังคนและสถาบันความรู้ 2) การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม 3) การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และ 4) การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ โดยดําเนินงานควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช.กล่าวว่า เนคเทค สวทช. ในฐานะองค์กรชั้นนำในการสร้างฐานรากสำคัญด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศขั้นสูงของประเทศ มีพันธกิจ เพื่อผลักดันให้เกิดระบบนิเวศน์ของการใช้งานเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศขั้นสูง ผ่านโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติและเครือข่ายพันธมิตรภาคการศึกษา และภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อรองรับประเทศไทย 4.0 นั้น ต้องการบุคลากร และโครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและสารสนเทศขั้นสูง เพื่อสร้างนวัตกรรมสมัยใหม่ที่มาจากการบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่จากทุกภาคส่วนในการการขับเคลื่อนสังคม โดยปัจจุบันประเทศไทยยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการรวบรวมข้อมูล ยังมีบุคลากรผู้้เชี่ยวชาญ เครื่องมือ และการบูรณาการข้อมูลที่จำกัด ถือเป็นช่องว่างสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนา ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏ สถาบันที่มีบทบาทสำคัญ ในการผลิตบัณฑิตที่มีอัตลักษณ์ มีคุณภาพ มีสมรรถนะ และเป็นสถาบันหลักที่บูรณาการองค์ความรู้สู่นวัตกรรมในการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ มีพันธกิจผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และน้อมนำแนวพระราชดำริสู่การปฏิบัติ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติในการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ
รองศาสตราจารย์มาลิณี จุโฑปะมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ตัวแทนกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 11 มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุดแข็งของมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งคือ การทำงานใกล้ชิดกับชุมชนและสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดเป็นรูปธรรมและมีความเป็นเลิศในหลายๆด้าน เช่น ด้านการเรียนการสอนและให้ความรู้แก่ชุมชน การทำงานได้จริง ความรักถิ่นฐาน และที่สำคัญมีความรู้ความเข้าใจด้านภูมิศาสตร์ของตน สามารถใช้ประโยชน์จากความรู้ความสามารถของคณาจารย์และเครือข่ายนักวิจัย จากความร่วมมือในการสร้างนวัตกรรมและผลงานสร้างสรรค์ร่วมกัน ซึ่งทราบมาว่าก่อนเกิดเวทีความร่วมมือในครั้งนี้ เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 11 แห่ง ได้ร่วมมือกันพัฒนาพิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่นใน “โครงการ Museum Pool” มาแล้วเป็นเวลาประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา โดยมีการนำร่องในพื้นที่ชุมชนจำนวน 33 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 11 แห่ง
และเวทีวันนี้เป็นอีกความร่วมมือของเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ทั้ง 11 สถาบัน กับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. เพื่อดำเนินการ“ส่งเสริมและผลักดันนวัตกรรมเพื่อการศึกษาสำหรับภูมิภาค” ร่วมกัน