วช.ผนึกเครือข่ายวิจัยภาคใต้จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2564” และ “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2564 ภูมิภาค รูปแบบออนไลน์-ออฟไลน์ 16-18 ธ.ค.นี้


วช.ผนึกเครือข่ายวิจัยภาคใต้งาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2564 (Regional Research Expo 2021)” และ “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2564 ภูมิภาค ในรูปแบบออนไลน์-ออฟไลน์ 16-18 ธ.ค.นี้
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) และหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วภาคใต้ เตรียมจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2564 (Regional Research Expo 2021)” และ “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2564 ภูมิภาค ระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคมนี้ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ผศ. ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชราชภัฏสุราษฎร์ธานี ผศ. จรูญ ถาวรจักร์ ประธานอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศและเครือข่ายร่วมแถลงข่าวการจัดงานผ่านระบบออนไลน์

งานดังกล่าวมีขึ้นเพื่อเร่งให้เกิดการขยายผล การนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์ระดับพื้นที่เป็นวงกว้างและเป็นรูปธรรม ,ส่งเสริมและเผยแพร่ผลงาน ผลผลิต ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่เกิดจากการวิจัยและประดิษฐ์คิดค้นของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยให้เป็นที่รู้จัก และมีการนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต, ตลอดจนเกิดความร่วมมือและประสานประโยชน์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาต่อยอดงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ซึ่งนำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิชาการ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ภายใต้แนวคิด “การวิจัยและนวัตกรรมภาคใต้ สู่การพัฒนาเชิงพื้นที่ในยุควิถีใหม่” โดยการพัฒนาเชิงพื้นที่หมายถึง การพัฒนาโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งในการกำหนดโจทย์วิจัยที่มาจากปัญหาและโอกาสของพื้นที่ โดยใช้การมีส่วนร่วมของประชาชน จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาและเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น นำสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนของชุมชนท้องถิ่น
นอกจากนี้การจัดงานยังจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจ ในการสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณภาพ นำไปสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการพึ่งพาตนเอง

โดยมีหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยในภาคใต้มากกว่า 30 แห่งร่วมนำเสนอผลงานมากกว่า 100 ผลงาน ภายใต้ธีมดังนี้ 1.งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ 2.งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม 2.งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน4. งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ 5.งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อน BCG Economy Model 6.งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 7.งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์โรคอุบัติใหม่


พร้อมทั้งนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 รวมถึงกิจกรรม Highlight Stage เพื่อเสนอผลงานวิจัยที่มีความโดดเด่น กิจกรรมนำเสนอบทความผลงานวิจัย Research Conference มากกว่า 100 ผลงานและกิจกรรมมอบรางวัล Regional Research Expo Aware 2021 แก่หน่วยงานและนักวิจัยที่นำเสนอนิทรรศการ ผลงานวิจัยได้อย่างโดดเด่นและงานวิจัยมีคุณภาพ

ตัวอย่างผลงานไฮไลท์ของงาน อาทิ

เครื่องดำนาแบบใช้คนลาก ภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาอาชีพของประชาชน (โครงการตามพระบรมราโชบาย) ของคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี ผู้ช่วยชาวนาทำงาน
“มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการที่จะใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยมาพัฒนาชุมชนท้องถิ่นภายใต้วิถีชีวิตของชุมชน เราพยายามหลีกเลี่ยงการใช้องค์ความรู้มาครอบชุมชน แต่มาช่วยชุมชนให้อยู่ได้ด้วยตัวเองภายใต้องค์ความรู้ที่ทันสมัยมากขึ้น อย่างเครื่องดำนา มาเรียนรู้จากการดำนาปกติและออกแบบมาเป็นเครื่องทุ่นแรงอย่างหนึ่ง ทำให้เกษตรกรมีชีวิตที่สุขสบายมากยิ่งขึ้น ลดเวลา ลดต้นทุน นี่เป็นวิธีคิดที่เรียกว่า วิศวกรสังคม” ผศ. ดร.วัฒนา รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยฯกล่าว


ขั้วไฟฟ้าสำหรับการตรวจวัดสารบ่งชี้มะเร็งเต้านม ผลงานนักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากตาลโตนดของชุมชนพื้นที่จ.สงขลา ผลงานของนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย



มีการวิจัยออกแบบพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนฐานรากจากทุนท้องถิ่น วิถีชีวิตภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีการออกแบบเครื่องอบ ทำให้ใบตาลแห้งเร็วขึ้น ไม่มีเชื้อรา ร่นเวลาจากเดิมในวันแสงแดดดีใช้เวลาอบ 2-3 วันเหลือเพียง 2 ชั่วโมงและชุมชนสามารถดูแลเองได้ภายหลังการถ่ายทอดเทคโนโลยี