กรมอนามัย ย้ำแหล่งท่องเที่ยว เน้นทำความสะอาดจุดเสี่ยงสัมผัสร่วมในส้วม ลดเสี่ยงแพร่เชื้อโรค
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ย้ำ แหล่งท่องเที่ยว ดูแลทำความสะอาดส้วมให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของนักท่องเที่ยว
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้ได้เข้าสู่ช่วงฤดูหนาวโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ มีนักท่องเที่ยว จำนวนมาก สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือ การจัดการและควบคุมดูแลส้วมสาธารณะในสถานีบริการน้ำมัน แหล่งท่องเที่ยว และสถานประกอบการร้านอาหารให้สะอาด ถูกสุขลักษณะอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคต่าง ๆ โดยเน้นการทำความสะอาดแหล่งปนเปื้อนเชื้อโรคที่ต้องสัมผัสบ่อย ได้แก่ ที่จับสายฉีดชำระ ที่รองนั่งโถส้วม ที่กดโถส้วมและโถปัสสาวะ ก๊อกน้ำล้างมือ และลูกบิดหรือกลอนประตู สำหรับพนักงานทำความสะอาด ขณะปฏิบัติงานต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้ง สวมถุงมือยาง ผ้ายางกันเปื้อน รองเท้าพื้นยางหุ้มแข้ง หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้าโดยไม่จำเป็น และหลังจากปฏิบัติงานเสร็จต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำทันที
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมากรมอนามัยได้สนับสนุนให้แหล่งท่องเที่ยวทุกแห่ง ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาส้วมสาธารณะให้ได้มาตรฐานส้วมสาธารณะระดับประเทศ (HAS) คือ ความสะอาด (Health) ความเพียงพอ (Accessibility) และความปลอดภัย (Safety) รวมทั้งการจัดการขยะ ควรจัดเตรียมถังขยะในการคัดแยกขยะ พร้อมฝาปิดมิดชิดไว้บริการ เพื่อความเป็นระเบียบ ลดปริมาณขยะ ที่จะนำไปกำจัด และลดการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ แมลงพาหะนำโรค ส่วนน้ำดื่มน้ำใช้ที่มีไว้บริการ ต้องสะอาด มีปริมาณเพียงพอต่อจำนวนผู้มาใช้บริการ รวมทั้งบริเวณโดยรอบที่พักอาศัยต้องสะอาด มีท่อระบายน้ำทิ้ง ไม่มีน้ำขังเฉอะแฉะ เพื่อป้องกันการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ แมลงพาหะนำโรค และส่งกลิ่นเหม็นรบกวน
“ทั้งนี้ ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการ และผู้ดูแลแหล่งท่องเที่ยวใส่ใจด้านความสะอาดของ ส้วมสาธารณะอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณที่มีความสกปรกและมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค มากที่สุด ได้แก่ ที่รองนั่ง ร้อยละ 37 รองลงมา คือ ที่จับสายฉีดน้ำชำระ ร้อยละ 33 ก๊อกน้ำ ร้อยละ 21 ลูกบิดหรือกลอนประตู พบร้อยละ 5 และที่กดโถส้วม/โถปัสสาวะ ร้อยละ 4 พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจ ที่ถูกต้องในการใช้ส้วมให้กับนักท่องเที่ยว โดยปิดฝาโถส้วมก่อนกดชักโครกทุกครั้ง ป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อโรค เว้นระยะห่างในขณะรอใช้ส้วม 1 – 2 เมตร ไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบ เพราะจะทำให้ โถหรือขอบโถแตกหัก หรืออาจพลาดตกลงมาจนเกิดการบาดเจ็บได้ นอกจากนี้ ก่อนใช้ส้วมทุกครั้ง ให้เช็ดฆ่าเชื้อก่อนนั่งลงบนโถส้วม ไม่ทิ้งวัสดุใด ๆ ลงในโถส้วม ที่สำคัญควรล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาด อย่างน้อย 20 วินาที ทุกครั้งหลังใช้ส้วม เพื่อสร้างสุขอนามัยที่ดี” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว