มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ร่วมกับ สวทช., GISTDA มุ่งตอบโจทย์ภาคสังคม พื้นที่ สร้างเสริมเศรษฐกิจชุมชนด้วยวิจัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ได้แถลงข่าวที่ หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด เพื่อทำความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและบริเวณภาคตะวันออก ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรเอกชน ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) , สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อการสร้างความรู้และพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ประกอบกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงทั้งจากโรคระบาดโควิด19 และกระแสความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่ทำมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ ต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถพัฒนาศักยภาพกำลังคนในพื้นที่ได้เกิดการเรียนรู้ที่เท่าทันกับยุคสมัย
โดยมหาวิทยาลัยได้เปิดพื้นที่ในการเพิ่มทักษะสำคัญสำหรับการทำงาน (Upskill/Reskill) ในประเด็นที่สอดคล้องกับยุคสมัย เช่น ทักษะดิจิทัลสำหรับสถานประกอบการ การจัดการขยะเพื่อเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น ซึ่งเป็นการปรับตัวของ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ในครั้งนี้ ต้องการจะพัฒนาสังคมและสร้างเสริมเศรษฐกิจชุมชนด้วยงานวิจัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ มาช่วยกันขับเคลื่อนพัฒนาองค์ความรู้
ทางด้าน รศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ได้กล่าวว่า “พันธกิจของมหาวิทยาลัยตอนนี้นอกจากการเรียนการสอน คือการทำงานร่วมกับชุมชน โดยในตอนนี้ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และยกระดับการทำงานด้วยโครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาในระบบออนไลน์เชิงพื้นที่สำหรับสถานการณ์นิวนอร์มัล ภายใต้โครงการพลิกโฉมระบบอุดมศึกษาของประเทศไทย “เรามีการร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในการพัฒนกำลังคนในพื้นที่ทั้งภาคเกษตร SME เป็นการสร้างความเข้มแข็ง สร้างรายได้ สร้างอาชีพที่ตอบโจทย์กับทักษะแรงงานในยุคปัจจุบัน โดยร่วมกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในภาคส่วนต่าง ๆด้วย 9 หลักสูตรที่ผ่านการออกแบบจากกลุ่มผู้ใช้งาน User และผู้เกี่ยวข้องภาคส่วนต่างๆ (Stakeholder) เพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด”
“เรามีบทบาทในการทำวิจัยเป็นหลัก มุ่งนำความรู้ที่มีมาใช้ประโยชน์โดยมีกลไกในการสำคัญในการทำงานครั้งนี้ คือ การพัฒนาบุคลากรให้สามารถนำใช้เพื่อพัฒนาพื้นที่ ยกตัวอย่าง เช่น การพัฒนานวัตกรรมทางด้านเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การใช้นวัตกรรมแบบเปิด “HandySense” ที่ทำผู้เข้ามาอบรมสามารถใช้เทคโนยีในการควบคุมการปลูกอัตโนมัติโดยการใช้เซนเซอร์เพื่อควบคุมการผลิต ทำให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ใช้แรงงานน้อยลง เป็นต้น รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ อย่างระบบบริหารจัดการและติดตามการผลิตพืชปลอดภัย GAP “สถานีตรวจวัดอากาศ” weather station “ ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.).กล่าว
การทำงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA คุณปราณปริยา วงค์ษา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายงวค์ความรู้ GISTDA เผยว่า การทำงานร่วมกันครั้งนี้เป็นการร่วมกันพัฒนาคน โดยเราได้เล็งเห็นว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์เป็นมหาวิทยาลัยที่ใกล้ชิดชุมชน เป็นพื้นทีที่เป็นแหล่งผลิตอาหารโลก แต่อาหารโลกในสมัยนี้ต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยยกระดับ ต้องเตรียมคนที่รู้เทคโนโลยีอนาคต และเตรียมยกระดับให้สูงขึ้น เราจึงร่วมกันพัฒนาหลักสูตรนำร่องที่มีทั้งทฤษฎีและปฏิบัติการเพื่อการนำเทคโนโลยีไปใช้ แล้วสามารถนำไปปฏิบัติต่อได้เลย หลักสูตรนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับในการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ดาวเทียม ในการคาดการณ์และวางแผน ทางด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อมได้อย่างแม่นยำ เช่น คาดการณ์ปริมาณน้ำฝน สภาพภูมิอากาศ ซึ่งสอดคล้องกับการทำเกษตรวิถีใหม่ด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรมีประสิทธิภาพสูงสุด”
นอกจากการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ยังมีการทำงานร่วมกับ 6 ชุมชน มีผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ใหม่ครอบคลุม 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสนามชัยเขต อำเภอท่าตะเกียบ อำเภอบางปะกง อำเภอคลองเขื่อน อำเภอบางคล้า และอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าฉะเชิงเทรา การทำงานร่วมกันครั้งนี้ได้มีการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ การคัดสรรผลิตผลคุณภาพดี การแปรรูปเพื่อให้ตอบโจทย์การบริโภคของคนรุ่นใหม่ รวมถึงการพัฒนาแพ็กเกจให้สวยงาม ทรงคุณค่าและน่าซื้อหาเป็นของฝาก
อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ยังกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “การพลิกโฉมมหาวิทยาลัยในครั้งนี้เป็นโครงการที่มุ่งพัฒนาศักยภาพคนในพื้นที่ด้วยการเรียนแบบใหม่ ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งมหาวิทยาลัย มีการเพิ่มหลักสูตร upskill , reskill เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับประชาชนที่อยากจะเพิ่มความรู้ให้ตนเอง และตอบโจทย์ทักษะการทำงานสมัยใหม่เช่น smart farmer ผู้ประกอบการยุคดิจิทัลซึ่งสามารถเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์จริงและเก็บเครดิตไว้รับปริญญาอีกด้วย ” โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.rru.ac.th