วช. มอบ “เตียงพลิกตะแคงระบบไฟฟ้า” ป้องกันแผลกดทับ รพ.ศิริราช

วช. มอบ “เตียงพลิกตะแคงระบบไฟฟ้า” ป้องกันแผลกดทับผลงานนักวิจัยไทยจากรั้วมอ.ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ รพ.ศิริราช รับมือผู้ป่วยติดเตียง เผยการต่อยอดพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ Central control ที่วช.สนับสนุน ช่วยให้ดูแลผู้ป่วยพร้อมกันหลายเตียงได้ผ่านหน้าจอเดียว ซอฟต์แวร์ผ่านมาตรฐานการแพทย์หนุนเป้าส่งออกในอนาคต


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบ “นวัตกรรมเตียงพลิกตะแคงระบบไฟฟ้าพร้อม Software อัตโนมัติ Smart Bed” ป้องกันแผลกดทับ นวัตกรรมทางการแพทย์ ฝีมือนักวิจัยไทย ให้แก่โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์รับมือกับผู้ป่วยติดเตียง โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนลินี โกวิทวนาวงษ์ หัวหน้าโครงการวิจัย เป็นผู้ส่งมอบฯ และมีรองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และนางชไมพร เจริญไกรกมล หัวหน้าฝ่ายการพยาบาล เป็นผู้รับมอบฯ


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ตลอดจนสนับสนุนกลไกการพัฒนาประเทศมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์สำคัญของประเทศ ปัจจุบันและอนาคตของประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย วช. จึงสนับสนุนทุนวิจัยภายใต้โครงการ การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ ผลงานวิจัย และนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2564 ให้กับ “นวัตกรรมเตียงพลิกตะแคงระบบไฟฟ้าพร้อม Software อัตโนมัติ Smart Bed” แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนลินี โกวิทวนาวงษ์ แห่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อช่วยลดภาระของพยาบาลหรือญาติผู้ป่วยซึ่งสอดรับสถานการณ์ที่ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยและมีผู้ป่วยสูงวัยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ กล่าวว่า จากโจทย์ปัญหาที่สังคมต้องพบเจอ สู่การค้นคว้าวิจัย การนำองค์ความรู้ที่เรามีในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ จนสามารถตอบโจทย์สังคมของเรา ที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย หรือสังคมอายุยืน ที่มีร้อยละของจำนวนประชากรมากกว่าวัยอื่น ๆ โรงพยาบาลศริราช และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้รับมือและดูแลปัญหานี้มาโดยตลอด เกือบทั้งประเทศ ผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัวจำนวนมาก และไม่สามารถดูแลตนเองได้ จำเป็นต้องใช้บุคลากรในการดูแลจำนวน 1-2 คน ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณภาพชีวิตผู้ที่ดูแลผู้สูงวัย โจทย์ที่นักวิจัยทำนั้นมีความยอดเยี่ยมตรงที่ สามารถใช้งานผ่าน Smartphone ได้ สามารถช่วยดูแลผู้สูงอายุที่นอนติดเตียงได้หลายคน นับว่าใช้งานได้จริง หากในอนาคตมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้อย่างมาก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนลินี โกวิทวนาวงษ์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า นวัตกรรมเตียงพลิกตะแคงระบบไฟฟ้าพร้อม Software อัตโนมัติ Smart Bed ช่วยผ่อนแรงผู้ดูแลในการพลิกตะแคงเปลี่ยนท่าผู้ป่วย และยังป้องกันการเกิดแผลกดทับได้เป็นอย่างดีทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาวะที่ดี

การออกแบบเตียงพลิกตะแคงพร้อม software smart bed สามารถทำให้ผู้ดูแลผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยได้รับการพลิกตัวทุก 2 ชั่วโมงอย่างสะดวกขึ้น เนื่องจากสามารถเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนทำให้ผู้ดูแลสามารถสั่งการทำงานของเตียงได้สะดวกขึ้น ส่วนการเชื่อมต่อ software แบบ central control เหมาะกับการใช้งานในโรงพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยหลาย ๆ เตียง พยาบาลสามารถควบคุมเตียงหลายเตียงผ่านหน้าจอเดียว เป็นการลดการเข้าไปหาผู้ป่วยโดยไม่จำเป็นเหมาะกับการดูแลผู้ป่วยในยุคนี้ได้

“วช.สนับสนุนการพัฒนาซอฟแวร์ Central control ซอฟแวร์ควบคุมส่วนกลางให้ได้มาตรฐานทางการแพทย์ควบคุมเตียงผู้ป่วยได้จำนวนมาก ซึ่งต่อยอดจากการพัฒนาจากเจลยางพารา มาเป็นเบาะยางพาราเตียงพลิกตะแคงระบบไฟฟ้าที่สามารถควบคุมได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ สำหรับซอฟต์แวร์ควบคุมส่วนกลางต้นแบบมีต้นทุนประมาณ 50,000 บาท รวมเตียง เบาะ รีโมท ประมาณ 150,000 บาท เทียบกับของต่างประเทศราคาประมาณ 200,000บาท มีเตียงอย่างเดียวไม่มีซอฟต์แวร์
ทั้งนี้ทั้งนั้นการพัฒนาเพื่อให้ผู้ป่วยมีสุขภาวะที่ดีขึ้นและให้ความสะดวกแก่ผู้ดูแล ซึ่งหากจะไม่ให้ผู้ป่วยมีแผลกดทับเลยจะต้องจ้างคนดูแลถึง2คน มีค่าใช้จ่าย20, 000บาทต่อคนหรือรวม 40,000บาท แต่ซื้อเตียงที่ 85,000บาท ผู้ดูแลคนเดียวหรือญาติคนเดียวสามารถดูแลได้เลย โดยจากข้อมูลของโรงพยาบาลขอนแก่นพบว่า 1 แผลกดทับ เมื่อเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 1 ครั้ง มีค่าใช้จ่ายผ่าตัดประมาณ70,000บาท”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนลินี กล่าวต่อว่า นวัตกรรมเตียงพลิกตะแคงระบบไฟฟ้าพร้อม software อัตโนมัติ smart bed จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้านนวัตกรรมได้ เนื่องจากการได้รับมาตรฐานทางการแพทย์จากองค์กรที่ได้มาตรฐาน เป็นใบเปิดทางสู่การจำหน่ายในต่างประเทศ หลังจากที่ผ่านมาเตียงพร้อมรีโมทจำหน่ายออกไปแล้วมากกว่า100 เตียงผ่านบริษัทสปินออฟชื่อว่า เอ็นเอฟ เฮลท์แคร์ จำกัด (NF Health Care Co., Ltd.) โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการสนใจพร้อมเข้ารับใบอนุญาตประกอบการหรือไลเซนซ์แล้ว
นอกจากนี้โครงการวิจัยพัฒนาที่นำยางพารามาใช้ประโยชน์ยังช่วยเพิ่มมูลค่าน้ำยางพารา ทำให้มีราคาสูงขึ้นระดับ 1,000 บาทต่อกิโลกรัมได้หากนำมาใช้ในทางการแพทย์ ในอนาคตหากมีน้ำยางคุณภาพดีจะกำหนดราคาคงที่ ไม่ต้องคอยมองราคาในตลาด นอกจากนี้ยังจะเน้นเรื่องเศรษฐกิจBCG นำทุกอย่างมาใช้ประโยชน์ได้หมด ไม่มีของเหลือทิ้ง

ทั้งนี้ วช. ได้มอบนวัตกรรมเตียงพลิกตะแคงระบบไฟฟ้าพร้อม software อัตโนมัติ จำนวน 6 เตียง แก่โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เพื่อนำไปติดตั้งในหน่วยเคมีบำบัดและการให้เลือด เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาลต่อไป