ภาพยนตร์สั้นสร้างแรงบันดาลใจด้านคนพิการ เรื่อง “The Better me…ชีวิตดีดี มีจริงแน่นอน”

ภาพยนตร์สั้นสร้างแรงบันดาลใจด้านคนพิการ เรื่อง “The Better me…ชีวิตดีดี มีจริงแน่นอน” สะท้อนมุมมองสังคมไทย แนะแนวทางแก้ปัญหา


จากภาพยนตร์สั้นสร้างแรงบันดาลใจ เรื่อง “The Better me..ชีวิตดีดี มีจริงแน่นอน” หนึ่งในภาพยนตร์สั้นจากโครงการ 7 Inspirations นวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์เพื่อการสื่อสารสังคมด้านคนพิการ พบว่า มีแง่มุมน่าสนใจเกี่ยวกับหนึ่งในปัญหาสังคมของไทย นั่นคือ ผู้ป่วยด้านจิตเภท ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการฆ่าตัวตายได้


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทอแสงรัศมี ถีถะแก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในฐานะหัวหน้าโครงการ 7 Inspirations กล่าวว่า ประเด็นปัญหานี้ จำเป็นต้องหยิบยกขึ้นมาและให้ความสนใจให้มากขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยด้านจิตใจที่ภาครัฐเก็บข้อมูลได้นั้นไม่สะท้อนจำนวนจริงเพราะยังมีผู้ป่วย หรือ ครอบครัวของผู้ป่วยไม่ยอมรับอาการเจ็บป่วย ไม่ต้องการให้แพทย์ระบุอาการป่วย หรือ ไม่ต้องการลงทะเบียนเป็นคนพิการ ซึ่งจำนวนผู้ป่วยประเภทนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามปัญหาทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ รวมถึงความเจ็บป่วยที่เกิดในกลุ่มผู้สูงอายุในสังคมที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยว หรือ ถูกกันออกจากกิจกรรมทางสังคม

ทั้งนี้ หากพิจารณาตัวเลขที่มีการลงเบียนบัตรประจำตัวคนพิการ (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) พบว่า เดือนธันวาคม 2563 มีจำนวนความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม 161,802 คน หรือคิดเป็น 7.79% และในเดือนกันยายน 2564 มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 164,230 คน คิดเป็น 7.84% ของคนพิการทั้งประเทศ