วุฒิสภา หนุนกลไกขับเคลื่อนพื้นที่ต้นแบบความปลอดภัยทางถนน
คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา หนุนกลไกขับเคลื่อนพื้นที่ต้นแบบความปลอดภัยทางถนน ชี้ ถอดบทเรียน 11 จังหวัดต้นแบบของ สสส. สอจร. ภาคีเครือข่าย สำเร็จ เตรียมผลักดัน 6 มาตรการเด่นสู่นโยบายแก้ปัญหาอุบัติเหตุของประเทศไทย
ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวในการเป็นประธานเปิดสัมมนา “วุฒิสภาค้นหา เรื่องเด่นเพื่อเป็นนโยบาย (Best Practice)” ว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ถือเป็นความสูญเสียและเป็นมหันตภัยที่ยิ่งใหญ่ของสังคมไทย คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี และนำมาซึ่งความสูญเสียของครอบครัว เป็นภัยต่อความมั่นคงของสังคมและประเทศ โดยอุบัติเหตุไม่ใช่เรื่องเคราะห์กรรม ดวงไม่ดี แต่เป็นเรื่องความประมาท และการมีวินัยจราจร ทั้งนี้ หากเทียบกับบทเรียนจากวิกฤตโควิด-19 ที่ทุกภาคส่วนร่วมมือแก้ไขและป้องกันปัญหาอย่างดี โดยเฉพาะภาคประชาชน จึงควรนำความร่วมมือนี้มาใช้กับการป้องกันและลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนของประชาชนในประเทศไทยสูงอย่างต่อเนื่อง แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตกว่า 2 หมื่นราย บาดเจ็บกว่า 1 ล้านคน เกิดผู้พิการรายใหม่กว่า 10,000 คน เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนามนุษย์ เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินฯ วุฒิสภา มีมติผลักดันให้เกิดกลไกการขับเคลื่อนเรื่องเด่นของพื้นที่ต้นแบบสู่การเกิดนโยบายผ่าน 4 กลไก ดังนี้ 1.บรรจุเรื่องเด่นเพื่อเป็นนโยบายและวาระการประชุมของคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินฯ เพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนนโยบาย และนำไปปฏิบัติใช้ 2.ยื่นกระทู้ถามต่อที่ประชุมวุฒิสภา ให้พิจารณาแนวทางผลักดันเป็นนโยบายของรัฐบาล 3.ทำหนังสือรวมเรื่องเด่นเพื่อเป็นนโยบาย แจ้งไปยังศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เพื่อพิจารณาขยายผลให้เหมาะสมทันเทศกาลปีใหม่ 2565 และจัดทำแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน และแจ้งกับคณะกรรมาธิการติดตามเสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ วุฒิสภา ให้ดำเนินงานสอดคล้องตามแผนปฏิรูปประเทศ 4.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการและศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนทุกจังหวัด
นพ.ทวีวงษ์ จุลกมนตรี สมาชิกวุฒิสภาและประธานอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทาถนน วุฒิสภา กล่าวว่า จากการถอดบทเรียน 11 จังหวัดต้นแบบการลดอุบัติเหตุทางถนนที่ประสบความสำเร็จในการลดจำนวนผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและพิการจากอุบัติเหตุทางถนน โดยได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ เทคนิค จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านแผนงานสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.) ทำให้เห็นถึงปัญหาและมาตรการเด่นที่นำมาเป็นนโยบายได้ 6 ประเด็น 1.สร้างวินัยความปลอดภัยทางถนน โดยโรงเรียนในจ.สิงห์บุรี และจ.สกลนคร 2.การสร้างวินัยความปลอดภัยทางถนน โดยมาตรการองค์กรนิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูนและนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี 3. พลังชุมชน ท้องถิ่นเพื่อความปลอดภัยทางถนน จ.นครศรีธรรมราชและจ.ร้อยเอ็ด 4.การเสริมความปลอดภัยทางถนนด้วยการปรับวิศวกรรมและความร่วมมือกับพื้นที่ จ.ราชบุรีและจ.สุราษฎร์ธานี 5.การเสริมความปลอดภัยให้รถสาธารณะและรถนักเรียน จ.พะเยาและจ.เชียงราย และ 6.การเสริมความปลอดภัยเร่งใส่หมวกนิรภัย ด้วยกล้อง CCTV และ AI Software จ.เชียงใหม่
ทั้งนี้มีการแถลงข้อมติร่วมจากเวทีสัมมนา พร้อมส่งมอบเรื่องเด่นที่จะพัฒนาเป็นนโยบายให้กับ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อสร้างความร่วมมือการดำเนินการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ในระดับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับอำเภอ ตำบล เพื่อสร้างกลไกขับเคลื่อนงานความปลอดภัยทางถนนแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
นพ. วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ และ ประธานอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน กล่าวว่า จากการสรุป การดำเนินงานทุกโครงการพิสูจน์แล้วว่าประสบผลสำเร็จ ทำได้จริง ต่อเนื่องและยั่งยืน โดยมีปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ ที่เหมือนกันในทุกโครงการ คือ ผู้บริหารองค์กร เห็นชอบ สนับสนุนการดำเนินงาน มีแกนนำ ที่เรียกว่า เจ้าพนักงานความปลอดภัยทางถนนที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินงาน ด้วยศรัทธา มุ่งมั่น ต่อเนื่องจริงจัง ดำเนินการได้จนเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนในการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน และยังสามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้ หากนำรูปแบบการดำเนินการตามโครงการที่นำเสนอทั้ง 6 ประเด็นนี้ ขยายผล ดำเนินการในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองท้องถิ่น ตลอดจน มีกลไก การกำกับติดตามที่ใกล้ชิดจริงจัง จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืนได้ตามเป้าหมาย คือ จาก 27 ต่อแสนประชาชน ในปี 2563 เป็น 12 ต่อแสนประชากรในปี 2570
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ขอกล่าวชื่นชมและขอขอบคุณวุฒิสภา และคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินฯ วุฒิสภา ที่ได้เล็งเห็นถึงปัญหาและให้ความสำคัญกับงานความปลอดภัยทางถนน และขยายผลการทำงานผ่านการเสนอเป็นนโยบาย ในวุฒิสภา จนบรรลุเป้าหมายการสร้างความปลอดภัยในถนนในระดับพื้นที่และทำงานร่วมกับ สสส. และ สอจร. ในการพัฒนาต้นแบบกลไกการขับเคลื่อนงานของจังหวัด ที่มุ่งสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอเต็มพื้นที่ ได้แก่ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดและศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ มุ่งส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดการขับเคลื่อนงานของ ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน (อปท.) เพื่อให้เจ้าของพื้นที่ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาและดูแลความปลอดภัยของชุมชนด้วยตนเอง มีเครือข่ายตำบลที่สามารถเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับตำบลอื่น เกิดความพยายามในการตั้งเป้าหมายลดการตายในระดับตำบล ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายและจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุให้ได้มากที่สุด