กรมอุทยานฯ-สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยจัดเสวนาสรุปผลการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสของไทย
กรมอุทยานฯร่วมสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยจัดเสวนาสรุปผลการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสของไทย เป็นกลไกที่ให้ประเทศกำลังพัฒนามีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้
วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2564 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดยการสนับสนุนของกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ (Forest Carbon Partnership Facility – FCPF) และธนาคารโลก จัดการสัมมนาสรุปผลการดำเนินงานโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสของประเทศ เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานและแลกเปลี่ยนบทเรียน พร้อมด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการขับเคลื่อนงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคป่าไม้ในอนาคต
จากการริเริ่มกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ในการประชุม COP13 เมื่อปี พ.ศ. 2553 ได้มีการรับหลักการเรดด์พลัส หรือ REDD+ (Reducing Emissions from Deforestation and Forest Degradation in Developing Countries) ซึ่งเป็นกลไกสร้างแรงจูงใจเชิงบวกแบบสมัครใจ โดยขอให้ประเทศกำลังพัฒนามีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้ ตามกรอบงานเรดด์พลัส ได้แก่ การลดการทำลายป่า การลดความเสื่อมโทรมของป่า เพิ่มการอนุรักษ์ป่าไม้ การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอน
สำหรับประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงในการเข้าร่วมโครงการเตรียมความพร้อมเรดด์พลัสกับกองทุน FCPF เริ่มดำเนินการตั้งแต่มิถุนายน 2559 สิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2564 โดยมีผลการดำเนินงานสำคัญ ๆ ได้แก่ (1) การจัดตั้งสำนักงานเพื่อเป็นหน่วยประสานงานทั้งในส่วนกลาง ระดับภาค และศูนย์ขับเคลื่อนและเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคป่าไม้ ระดับพื้นที่ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ ศูนย์จังหวัดจันทบุรี กาญจนบุรี พัทลุง เลย สกลนคร พิษณุโลก แพร่ ตาก และเชียงใหม่
(2) การตรวจติดตามทรัพยากรป่าไม้และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจัดทำระดับการปล่อยอ้างอิงภาคป่าไม้ (Forest Reference Emission Level : FREL) และระดับอ้างอิงภาคป่าไม้ (Forest Reference Level : FRL) ของประเทศ และระบบการตรวจวัดการติดตามและรายงานสำหรับกรอบงานเรดด์พลัส
(3) การจัดทำร่างกลยุทธ์เรดด์พลัสของประเทศ พร้อมกลไกสนับสนุนการดำเนินงาน
(4) การบริหารจัดการโครงการ การติดตาม และประเมินโครงการ รวมทั้งร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินกิจกรรมตามกรอบเรดด์พลัสมาอย่างต่อเนื่อง
การขับเคลื่อนงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคป่าไม้มีความสำคัญมากขึ้น หลังจากที่ประเทศประเทศไทยได้ประกาศยกระดับเป้าหมาย โดยในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 40 % และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 (พ.ศ. 2593) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี 2065 (พ.ศ. 2608)
โดยที่ผ่านมา สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้ร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญ จัดทำร่างกลยุทธ์เรดด์พลัสของประเทศ ภายใต้การดำเนินโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส ให้ความสำคัญต่อประโยชน์จากภาคป่าไม้ทั้งในรูปคาร์บอนและการบริการจากระบบนิเวศป่าไม้ เน้นการกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม การออกแบบกรอบการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงระบบข้อมูลเพื่อการติดตามประเมินผลและการมีกลไกรับร้องร้องทุกข์ กรณีที่อาจเกิดผลกระทบจากกิจกรรมเรดด์พลัส
นอกจากนี้ ได้ดำเนินการถอดบทเรียนและความสำเร็จของการดำเนินงานศูนย์ขับเคลื่อนเรดด์พลัส ระดับพื้นที่ ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีการดำเนินงานหลายประการที่สำเร็จเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ต่อชุมชนนำร่อง จึงควรมีการต่อยอดและขยายผลการดำเนินงานให้กว้างขวางขึ้น