บพข. เร่งหนุนวิจัยสารสกัดแปรรูปจากข้าวไทย หวังช่วยชาวนาพ้นวิกฤตราคาข้าวตกต่ำ

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สนับสนุนงบประมาณเพื่อเร่งพัฒนาวิจัยสารสกัดแปรรูปจากข้าวที่ได้มาตรฐาน หวังสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูป ช่วยชาวนาแก้วิกฤตราคาข้าวตกต่ำ

รศ.ดร.ณัฐดนัย หาญการสุจริต จากสำนักประสานแผนงานเกษตรและอาหารมูลค่าสูง บพข. กล่าวว่า การพัฒนาสารสกัดแปรรูปจากข้าวที่ได้มาตรฐาน เกิดจากความร่วมมือระหว่างนักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูปของไทย ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง บริษัท บ้านไทยเฮิร์บ จำกัด หจก. คชศิลป์ เบเวอร์เรจ และบริษัท โอรี่ เนเชอรัล โปรดักส์ จำกัด ด้วยเห็นว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก มีการเพาะปลูกข้าวหลายสายพันธุ์ ประมาณร้อยละ 30 ของการส่งออกข้าวทั้งหมดทั่วโลก และมีรำข้าวซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการแปรรูปจำนวนมาก จึงมีเป้าหมายพัฒนากระบวนการผลิตข้าวมีสี โดยใช้ข้าวสังข์หยดเป็นกรณีศึกษานำร่อง เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบฟังก์ชันในการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้

รศ.ดร.ณัฐดนัย กล่าวต่อว่า การนำข้าวที่มีสีซึ่งมีส่วนประกอบของสารออกฤทธิ์ซึ่งให้ประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ฟีนอลลิก ฟลาโวนอยด์ แอนโธไซยานิน โปรแอนโธไซยานิดิน วิตามินอี และ -oryzanol มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สารสกัดชีวภาพสามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นส่วนผสมอาหารเพื่อสุขภาพและใช้เป็นส่วนประกอบเครื่องสำอางเพื่อช่วยในการบำรุงผิว ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย มียอดจำหน่ายสูงและได้รับการยอมรับทั่วโลก

“การที่ประเทศไทยมีข้าวหลายสายพันธุ์จะมีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สารสกัดจากข้าว เพื่อส่งออกเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง สร้างรายได้และความสามารถในการแข่งขันเชิงเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ ในขณะเดียวกันช่วยพยุงชาวนาจากวิกฤตราคาข้าวตกต่ำ และเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวนาไทย” รศ.ดร.ณัฐดนัย กล่าว