พช.แถลงผลสำเร็จโครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ OTOP
พช.แถลงผลสำเร็จโครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant D) ให้มีคุณภาพมาตรฐาน
เมื่อวันที่ 4 ม.ค.65 นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานแถลงข่าวประกาศผลสำเร็จการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant D)ให้มีคุณภาพมาตรฐาน ประเภทอาหารและประเภทเครื่องดื่ม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ค้นหาแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ วิเคราะห์ศักยภาพและจุดอ่อนของผลิตภัณฑ์ หรือบรรจุภัณฑ์/ฉลาก หรือช่องทางการจำหน่ายของผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 791 ผลิตภัณฑ์ โดยมีนายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีฯ , นายกิตติพล เวชกุล ผู้ตรวจราชการ , นางนวลจันทร์ ศรีมงคล ผู้ตรวจราชการ , นายสุธีธ์ มั่งมี เลขานุการกรมฯ , นางสุมาลี ศิริจินดา ผู้อำนวยการกองคลัง , นางทัศนีย์ ชัยคุณแสง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทุนและองค์การเงินชุมชน , นางสาวเปรมจันทร์ รัตนสุวรรณสิริ ผู้อำนวยการกลุ่มตรวจสอบภายใน , นายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน , นางสาวภัทรลภา สุริโย ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน , นางชนัญญา ภู่ระหงษ์ นักทรัพยากรบุคคล สถาบันการพัฒนาชุมชน และ นางสาวพิมพัตร สุทธิประภา ผู้ช่วย ผู้ตรวจราชการกรมฯ พร้อมด้วยผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดร่วมงาน ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 1 เซ็นทรัลเฟสติวัล อิสต์วิลล์
นายสมคิด กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จำนวน 94,656 กลุ่ม/ราย และมีผลิตภัณฑ์ OTOP จำนวน 211,371 ผลิตภัณฑ์ ในจำนวนนี้แยกเป็นผลิตภัณฑ์ ในกลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant D) จำนวน 164,536 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งกลุ่มนี้ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ รูปแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ยังไม่สวยงามโดดเด่น ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ยังขาดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ดังนั้นกรมฯ จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant D) ให้มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อพัฒนาทักษะผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ให้มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น พัฒนายกระดับคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant D) ให้มีศักยภาพทางการตลาดเพิ่มขึ้น และเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์
กรมการพัฒนาชุมชนเริ่มดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ประเภท Quadrant D ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และมีการจัดกลุ่มการพัฒนาเป็นคลัสเตอร์เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำในการพัฒนา ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และจัดกิจกรรมทดสอบตลาดออนไลน์และออฟไลน์ตามประเภทของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย โดยได้ดำเนินการแยกผลิตภัณฑ์เป็น 4 คลัสเตอร์ คือ 1.คลัสเตอร์อาหาร 2. คลัสเตอร์ผ้าและเครื่องแต่งกาย 3.คลัสเตอร์ของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก และ 4.คลัสเตอร์สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร
จากการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant D) ให้มีคุณภาพมาตรฐาน ที่แน่นอนที่สุดคือ มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค การพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ให้ดูทันสมัย สวยงาม และชวนซื้อ เหมาะแก่เป็นของฝากได้ทุกเทศกาล การยืดอายุการเก็บรักษา และความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการได้เปลี่ยนรูปแบบการขายขึ้นสู่ platform on line อาทิ shopee , Lazada , page Facebook และ on line ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการมีความเหมาะและสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ ซึ่งในช่องดำเนินงานโครงการ ฯ มีการทดสอบตลาด online จำนวน 15 วัน ซึ่งปรากกฏว่าสินค้าที่เข้าร่วมโครงการสามารถขายได้ยอดจำหน่ายกว่า 500,000 บาท ส่วนสินค้าที่มียอดจำหน่ายสูง 5 ลำดับได้แก่ 1. ภาคอีสาน ข้าวฮาง ข้าวกล้อง จ.บุรีรัมย์ ยอดขาย 12,000 บาท 2. ภาคอีสาน ตำรับย่า จ.นครราชสีมา ยอดขาย 10,000 บาท 3. ภาคเหนือ กล้วยตาก จ.พิษณุโลก ยอดขาย 9,500 บาท 4. ภาคกลาง ซันชายน์ กล้วยหอมทองตาก 100% จ.เพชรบุรี ยอดขาย 8,500 บาท และ 5. ภาคใต้ น้ำพริกแม่หญิงเบญจา จ.กระบี่ ยอดขาย 8,000 บาท
และจากกิจกรรมทดสอบตลาด ผลิตภัณฑ์จากโครงการฯ ที่ได้คัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพฯ จำนวน 791 ผลิตภัณฑ์ เพื่อเข้าสู่กิจกรรมทดสอบตลาด จำนวน 6 วันที่ผ่านมา(29 ธ.ค.64 – 4 ม.ค.65) มียอดขายกว่า 520,066 บาท
สินค้าที่มียอดจำหน่ายสูง 5 ลำดับได้แก่ 1. ใจดีกรอบแก้ว (ถั่วขนมขบเคี้ยว) จ.นครปฐม ยอดขาย 68,200 บาท 2. ภูเก็จแก้ว (น้ำปลาหวาน) จ.ภูเก็ต ยอดขาย 54,050 บาท 3. ข้าวยำสมุนไพร (ขนมจีนปู) จ.สตูล ยอดขาย 34,500 บาท 4. ครัวอันดามัน อาหารปักษ์ใต้ จ.สตูล ยอดขาย 27,830 บาท และ 5. ร่วมใจพัฒนา (โรตี) จ.สตูล ยอดขาย 26,499 บาท
“กรมการพัฒนาชุมชน จะต่อยอดโครงการโดยการส่งเสริมช่องทางการตลาดออนไลน์กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการเหล่านี้ รวมถึงการนำสินค้าไปจำหน่ายในห้าง Modern Trade และช่องทางการตลาดอื่น ๆ ที่กรมฯ จัดขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ จะดำเนินการพัฒนาให้เป็นสินค้า Premium เพื่อการส่งออกต่อไป จึงขอเชิญชวนทุกท่านช่วยอุดหนุนสินค้าจากผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP นอกจากท่านจะได้เลือกซื้อสินค้าที่ดีมีคุณภาพและมาตรฐานจากทั่วประเทศแล้ว ท่านยังจะมีส่วนช่วยในการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าว