มศว.ล้ำ สร้างสรรค์ ‘เครื่องประดับเวียงโกศัย’ จ.แพร่ เคลื่อนไหวได้

ดีไซน์ล้ำ มศว.สร้างสรรค์ “เครื่องประดับเวียงโกศัย” จ.แพร่ เคลื่อนไหวได้ คว้ารางวัล ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ปี 2565 จาก วช.

นักวิจัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโวฒ สร้างสรรค์“ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์สานศิลป์เวียงโกศัยเครื่องประดับนวัตกรรมอัตลักษณ์ไทย” ชูเอกลักษณ์โดดเด่น 10 ตำบล ในจังหวัดแพร่ เสริมอาชีพรายได้ให้ชุมชน ด้านสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประกาศเกียรติคุณ ประจำปี 2565 ให้ ในงานวันนักประดิษฐ์ ระหว่างวันที่ 2-6 ก.พ. ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา

คณะนักวิจัย นำโดย ผศ.ดร.ดวงแข บุตรกลู วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า การออกแบบเครื่องประดับ โดยนำคุณค่า อัตลักษณ์ วิถีชีวิตที่งดงามของชุมชน มาสื่อสารสร้างมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ชุดเครื่องประดับอัญมณี ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ปราชญ์ชาวบ้าน นวัตกร มีแนวคิดการสืบสานศิลป์เวียงโกศัย โดยนำแรงบันดาลใจมาจากแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ประเพณี และวิถีชีวิต ของ 10 ตำบล ในจังหวัดแพร่ ได้แก่ ตำบลช่อแฮ, ในเวียง, บ้านถิ่น, ทุ่งโฮ้ง, ทุ่งกวาว, น้ำชำ, สวนเขื่อน, บ้านปิน, ห้วยอ้อ และไทรย้อย โดยสร้างสรรค์ความร่วมสมัยจากการใช้นวัตกรรมออกแบบ ให้เครื่องประดับมีลักษณะเคลื่อนไหวได้ เห็นมิติแบบใหม่ อาทิ วัดพระธาตุช่อแฮพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล, คุ้มวงศ์บุรี, คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่, ศิลปะพุกามรูปทรงวัดจอมสวรรค์, วิถีผ้าหม้อห้อมทุ่งโฮ้ง, วนอุทยานแพะเมืองผี, ลางสาดหวานและสาหร่ายเตา, ตำนานแพร่แห่เบิดบ้านปิน, ผ้าลายดอกผักแว่น และอัญมณีไพลินสีเงินเข้มไทรย้อย เป็นต้น


ผศ.ดร.ดวงแข เล่าอีกว่า ได้ต่อยอดร่วมกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว การจำหน่ายเครื่องประดับ ของที่ระลึกและผลิตภัณฑ์ชุมชน ด้วยนวัตกรรมวัสดุคอมโพสิตกลาสเซรามิก ทำมาจากผงเศษแก้วและผงพลอยไพลินละเอียดอัดขึ้นรูปด้วยความร้อน ความดันในสภาวะสุญญากาศ ให้กลายเป็นอัญมณีน้ำงาม เป็นเครื่องประดับสิริมงคล เพิ่มมูลค่าจากเครื่องเงินในชุมชนที่มีอยู่เดิม นับเป็นการยกระดับให้ผลิตภัณฑ์เครื่องประดับชุมชน กระตุ้นความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระดับชุมชน เกิดของที่ระลึกที่มีลักษณะแปลกใหม่ โดยมีการผลิตต้นแบบในโรงงานแล้ว ผ่านการทดลองตลาด ปรับปรุงและพัฒนาให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย นักท่องเที่ยว และผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ โดยผลงานได้รับการจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร/ลิขสิทธิ์ แล้ว 79 ชิ้นงาน และจัดจำหน่าย อยู่ที่วัดพระธาตุช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองเเพร่ จังหวัดแพร่ พร้อมส่งเสริมการขายในรูปแบบดิจิทัลให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย จีน และต่างประเทศอีกด้วย เนื่องจากการบริหารจัดการที่ง่ายและสะดวก เหมาะกับสภาวะปัจจุบันโดยเฉพาะช่วงการระบาดของโรคโควิด-19



ทั้งนี้ ผลงาน“ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์สานศิลป์เวียงโกศัยเครื่องประดับนวัตกรรมอัตลักษณ์ไทย”ยังได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับรางวัลประกาศเกียรติคุณ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) อีกด้วย
โดยผู้สนใจที่สามารถเยี่ยมชมผลงานได้ ภายในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 – 2565 ระหว่างวันที่ 2- 6 กุมภาพันธ์ 2565 ณ
ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา