วช. ร่วม บางจาก บีบีจีไอ-มทร.อีสานขับเคลื่อนผลิต SAF สู่น้ำมันเครื่องบินคาร์บอนต่ำ

วช. ร่วมกับ บางจาก บีบีจีไอ และ มทร.อีสานขับเคลื่อนการผลิต SAF สู่น้ำมันเครื่องบินคาร์บอนต่ำจากฐานการวิจัยฯ


วันนี้ (24 ม.ค. 65) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ บริษัท บางจาก จำกัด (มหาชน) บริษัท บีบีจีโอ จำกัด (มหาชน) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการขับเคลื่อน “นวัตกรรมสีเขียว เพื่อการผลิต SAF สู่การพัฒนาน้ำมันเครื่องบินคาร์บอนต่ำ จากฐานงานวิจัย” ณ ห้องใบไม้ ชั้น 8 อาคาร เอ็ม ทาวเวอร์ สำนักงานใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ

Sustainable Aviation Fuel (SAF) เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืนจากเอทานอลสู่การพัฒนาน้ำมันเครื่องบินคาร์บอนต่ำ จากฐานงานวิจัย เป็นการพัฒนานวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องบินคาร์บอนต่ำ สำหรับการขนส่งและการเดินทางทางอากาศ ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) โดยมี นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัทบางจาก นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และรองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ร่วมลงนามความร่วมมือฯ

พร้อมนี้กองทัพอากาศ ร่วมผลักดันการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดังกล่าว สู่การนำไปใช้ประโยชน์เป็นน้ำมันอากาศยานคุณภาพสูงซึ่งเหมาะสำหรับเป็นเชื้อเพลิงเครื่องบินของกองทัพอากาศในอนาคตต่อไป รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์และการลงทุนเพื่อผลิตน้ำมันเครื่องบินคาร์บอนต่ำจากผลิตภัณฑ์พลอยได้ของโรงงานเอทานอลในเชิงพาณิชย์ ทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาคุณภาพน้ำมันเครื่องบินที่มีคุณภาพสูงและคาร์บอนต่ำ สำหรับส่งออกและใช้ภายในประเทศ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย