LINES COLORS SPACES IN MEMORY “เส้น สี ที่ว่าง ในสัญญา”

LINES COLORS SPACES IN MEMORY “เส้น สี ที่ว่าง ในสัญญา”

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศ.เกียรติคุณปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี เปิดนิทรรศการ LINES COLORS SPACES IN MEMORY “เส้น สี ที่ว่าง ในสัญญา” ซึ่งนิทรรศการนี้ เป็นผลงานโครงการวิจัย โดย ผศ.สุดวดี สุวรรณ อาจารย์สาขาวิชาหัตถศิลป์ วิทยาลัยเพาะช่าง


ผศ.สุดวดี กล่าวถึงที่มาของผลงานนี้ว่า เป็นการสร้างสรรค์จากโครงการดุษฎีนิพนธ์ เรื่อง “สุรศักดิ์ เจริญวงศ์ ในสัญญาวิจักษ์ : สุนทรียะจากสํานึกแห่งสายใย” In Appreciative Remembrance of Surasak Charoenwong: Aesthetics from an Awareness of Connection โดยงานวิจัยนี้เกิดขึ้นจากความสะเทือนใจต่อการสูญเสียบุคลากรแห่งวงวิชาการด้านศิลปกรรมไทย “สุรศักดิ์ เจริญวงศ์ ในสัญญาวิจักษ์ : สุนทรียะจากสํานึกแห่งสายใย” และมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวบ ศึกษา และวิเคราะห์ผลงานแบบพหุลักษณ์ของศาสตราจารย์สุรศักดิ์ เจริญวงศ์ สังเคราะห์ข้อมูลตีความจากภาษาเขียนเป็นภาษาศิลปะ บูรณาการองค์ความรู้จากผลงานของศาสตราจารย์สุรศักดิ์กับจิตวิทยาเชิงพุทธและสัญญาวิจักษ์ของผู้วิจัย สร้างมโนภาพโดยใช้ทัศนธาตุสื่อสารผสานผลงานทางทัศนศิลป์ นําเสนอสุนทรียะด้วยศิลปะสื่อผสม

โดยผลงานที่จัดแสดงในครั้งนี้ประกอบไปด้วยความทรงจำสีจาง หมายเลข1 ห้วงที่ 1 แห่งรอยยิ้ม ความทรงจำระหว่างปี 2521-2554 งดงาม สนุกสนาน แม้ความทรงจำนั้นจะพร่าเลือนแต่มีสีสันชัดเจนระยิบระยับทางความรู้สึก เด่นชัดในสัญญาวิจักษ์ กำหนดโครงสร้างรูปทรงหลักจากทวีปทั้ง 4 ในมนุสสภูมิ ตามคติความเชื่อ นำกระบวนการการปักเดินเลื่อมมาสร้างความระยิบระยับบนผ้าโปร่ง ซ้อนทับกันสร้างมิติ โดยใช้รูปทรงเปิดเพื่อให้สีและที่ว่างไหลถ่ายเทภายในรูปทรง กระตุ้นชีวิตชีวาแห่งการเรียนรู้


ความทรงจำสีจาง หมายเลข 2 ห้วงที่ 2 ความทรงจำระหว่างปี 2554-2556 หดหู่ทรมาน แต่กลับสะท้อนสัจธรรมแห่งชีวิตอย่างชัดเจน กำหนดโครงสร้างรูปทรงหลักจากนรกภูมิ ตามคติความเชื่อ สร้างบรรยากาศขมุกขมัว สิ้นหวัง นำกระบวนการการปักเดินเลื่อมมาสร้างจุดและเส้น แสดงถึงความหวังอันริบหรี่ ประติมากรรมถูกห้อยแขวนเหนือกระจกเงาบนพื้น ผลที่ปรากฎคือการสะท้อนกันของลายเส้นและรูปทรงกลับไปกลับมาผ่านกระจกเงา เตือนสติกระตุ้นการรับรู้ เตือนว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้นเป็นปรากฎการณ์แห่งทุกข์ในชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น

ความทรงจำสีจางหมายเลข 3 ห้วงที่3 ห้วงแห่งความระลึกถึง เป็นความทรงจำระหว่างปี 2556-ปัจจุบัน ระลึกถึงความสุขความทรงจำ โดยกำหนดทัศนธาตุในผลงานคือจุดและเส้นแห่งสัมพันธภาพที่เหลือเพียงรูปในกรอบผ่านเทคนิคการประดับกระจกพื้นลาย ร่วมกับการห้อยแขวนผ้าโปร่งที่กำหนดลายเส้นและรูปทรงซ้อนเหลื่อมกันด้วยการหยอดสี ประสานการร้อยลูกปัดเชื่อมองค์ประกอบตามโครงสร้างผังรูปทรงอันเกี่ยวเนื่องกับเทวภูมิแสดงสัมพันธภาพที่คงไว้ซึ่งความระลึกถึงด้วยบรรยากาศสีนวลทองสร้างความรู้สึกระยิบระยับเหมือนฝันจางๆ แสดงถึงความดีงามที่ท่านเคยสร้างไว้
LINES COLORS SPACES IN MEMORY “เส้น สี ที่ว่าง ในสัญญา” จัดแสดงให้ชมฟรีระหว่าง 25 – 30 มกราคม 2565 ณ อาคารพิพิธภัณฑ์เพาะช่างเฉลิมพระเกียรติ วิทยาลัยเพาะช่าง