เปิดตัว “โดรนแปรอักษร โดรนส่งของ-ส่งยาผ่าน4G-5G เจ้าแรกในไทย” งานวันนักประดิษฐ์ปี64-65 ไบเทค บางนา
บรรยากาศงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี2564-2565 วันที่ 2 ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานครยังเป็นไปอย่างคึกคัก มีน้องๆนักเรียน นักศึกษาเข้าชมงาน ชมผลงานสิ่งประดิษฐ์กันอย่างตื่นเต้น โดยเฉพาะเมื่อมีการโชว์บินโดรนแปรอักษรขนาดจิ๋วของทางสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ เจ้าของรางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีเด่น ประจำปี2564 พร้อมการเปิดตัวครั้งแรกของ “โดรนระบบ 4G-5G เจ้าแรกในไทย
นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ เข้ารับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ- รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีเด่น ประจำปี2564 จากผลงาน “นวัตกรรมการเรียนรู้การพัฒนาระบบซอฟต์แวร์โดรนแปรอักษร” (Drone Swarm Software) ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี2564-2565 ครั้งที่23 โดยได้แสดงผลงานโดรนแปรอักษรรุ่นใหม่ และต้นแบบโดรนรุ่นใหม่แต่ใช้งานได้จริงของโดรนส่งของและโดรนช่วยงานการแพทย์หรือโดรนการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อใช้ส่งยาและเครื่องเวชภัณฑ์ต่างๆมาโชว์
สำหรับนวัตกรรมโดรนแปรอักษร (Drone Swarm Software) ที่พัฒนาขึ้นโดยสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ เป็นโดรนสัญชาติไทย ที่ผลิตโดยคนไทย ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ สำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย และเป็นรายแรกในเอเชียตะวันออกเชียงใต้ โดยสามารถควบคุมโดรน ให้บินขึ้นพร้อมกันครั้งละหลาย ๆ ลำ และจัดเรียงตำแหน่งตามที่กำหนดโดยการสั่งงานจากคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียวรุ่น้ก่าเป็นการควบคุมผ่านสัญญาณ Wi-Fi ซึ่งสมาคมฯ มีทีมเยาวชนนักประดิษฐ์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้า การสร้างและการพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่มีประสิทธิภาพการทำงานทัดเทียมกับของต่างประเทศ เช่น อเมริกาและจีนที่เป็นผู้นำในด้านนี้ โดยที่ผ่านมาได้นำไปจัดแสดง ในงานพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ และตอบสนองแนวโน้มการนำโดรนแปรอักษรมาใช้แสดงแทนการจุดพลุไฟมากขึ้น เพื่อลดการก่อเกิดมลภาวะทางอากาศ ให้สามารถลอยอยู่บนท้องฟ้าได้นานกว่า และสามารถแสดงเป็นรูปร่างต่าง ๆ ได้หลากหลาย
นับว่าเป็นการยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีของคนไทยให้ก้าวล้ำนำสมัยไปอีกขั้น มีศักยภาพและความสามารถในการต่อยอดเชิงธุรกิจ เพื่อจัดแสดงโดรนแปรอักษรในงานต่าง ๆ สามารถกำหนดรูปแบบการแสดงได้ โดยเสียงไม่ดังเกินไป ลดอัตราการเกิดอัคคีภัยจากการจุดพลุ
ที่ผ่านมา วช.ให้การสนับสนุนสมาคมฯจัดโครงการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาโดรนสู่การใช้ประโยชน์ “เทคนิคการบินโดรนแปรอักษร” ให้กับเยาวชนนักประดิษฐ์ด้านการพัฒนาซอฟท์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับใช้งานโดรนในด้านต่าง ๆ การพัฒนาระบบการบินการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ให้สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและนำไปใช้ต่อยอดในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของโดรนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป และยังสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาเยาวชนรูปแบบนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมุ่งขยายผลการพัฒนาไปยังเยาวชนในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความรู้และทักษะด้านประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมในด้านการใช้ประโยชน์จากโดรนอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า สำหรับการมาร่วมงานในครั้งนี้ได้นำนวัตกรรมที่ใหม่ในส่วนของซอฟต์แวร์ แม้ฮาร์ดแวร์อาจไม่ได้ใหม่ โดยสิ่งที่นำมาโชว์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ให้รู้จักการพัฒนาเรื่องของ ซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก พร้อมชื่นชมสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)ที่จัดงานในครั้งนี้ โดยได้เห็นการพัฒนาของเยาวชนที่นำสิ่งประดิษฐ์มาโชว์ก้าวหน้ากว่าหลายปีที่ผ่านมา มีลักษณะของฮาร์ดแวร์ที่ดี มีการเพิ่มซอฟต์แวร์ มีการเขียนโค้ดดิ้งเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้มองอนาคตของงานวันนักประดิษฐ์ที่วช.ได้ร่วมกับสมาคมฯกันจัดบินโดรนแปรอักษรในครั้งนี้ด้วยจะทำให้สิ่งประดิษฐ์อื่น ๆ ของเยาวชนมีความก้าวหน้าตามกันมาและในอนาคตต่างประเทศประดิษฐ์อะไร ไทยก็ประดิษฐ์ได้ไม่แพ้กัน
ทั้งนี้นายพิศิษฐ์กล่าวว่า ผลงานประดิษฐ์ของตนสามารถนำมาใช้งานได้จริง โดยแบ่งได้เป็น 2 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาซอฟต์แวร์โดรน ซึ่งเวลานี้สามารถทำให้โดรนบินได้ไกล จากการพัฒนาการบินด้วยระบบสัญญาณโทรศัพท์ 4G -5G ต่างจากระบบเดิม ถือเป็นครั้งแรกและเจ้าเดียวในประเทศไทย โดรนสามารถบินได้ เป็น 100 กิโลเมตร หรือ1,000 กิโลเมตร หรือบินนอกประเทศได้ตราบที่ยังมีสัญญาณ 4G หรือ 5G และยังสามารถนำมาใช้งานได้หลายอย่าง เช่น โดรนส่งอาหาร โดรนโลจิสติกส์ส่งของ
หรือโดรนการแพทย์ฉุกเฉิน ที่อาจใช้บรรทุกยาหรือ เครื่องปั๊มหัวใจเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงทีในสถานการณ์ที่รถฉุกเฉินเข้าไม่ถึงหรือช่วงรถติด เนื่องจากบินได้เร็ว ใช้เวลาน้อย โดยที่นำมาโชว์เป็นต้นแบบขนาดเล็กแต่ทำงานได้จริง และขนาดของโดรน(ที่เป็นส่วนฮาร์ดแวร์)สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ แต่สิ่งสำคัญคือ ซอฟต์แวร์
“การนำมาโชว์ในครั้งนี้ต้องการให้เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมเยาวชนในการเขียนโปรแกรมและเรียนด้านคอมพิวเตอร์ให้มากที่สุด และฝากถึงภาครัฐให้การสนับสนุนเยาวชนให้ถูกจุดถูกคน สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง อย่าปล่อยเขา ต้องส่งเสริมให้ถึงที่สุดเพื่อให้ได้เพชรเม็ดงาม มีติดตามและประโยชน์จะเกิดกับประเทศอย่างแน่นอน” นายพิศิษฐ์กล่าวทิ้งท้าย
อนึ่งสำหรับการแสดงโดรนแปรอักษรแบบ Indoor ภายในงานวันนักประดิษฐ์ล่าสุด มี 4 ชุดการแสดง มีการออกแบบเป็นรูปภาพต่าง ๆ เช่น พายุ ไวกิ้ง คลื่น ดอกไม้ ลูกโลก โดยประชาชนทั่วไปสามารถร่วมรับชมการแสดงโดรนได้จนถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ นี้ ณ Event Hall 102 -104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITECH) บางนา กรุงเทพฯ โดยทีมนักประดิษฐ์จะคอยต้อนรับและให้ความรู้กันอย่างเต็มที่