วช. เชิดชูนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 65 แก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในสัตว์ จากแนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว”
วช. เชิดชูนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 65 แก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในสัตว์ จากแนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” พบความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมของเชื้อดื้อยาที่แยกได้จากปศุสัตว์ เนื้อสัตว์ สัตว์น้ำและคน ความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมของเชื้อดื้อยาในไทย และภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก นำสู่มาตรการเฝ้าระวังแก้ไขอย่างเป็นระบบในไทยและหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย เล็งศึกษาต่อยอดและวิจัยเพิ่มเกี่ยวกับ สารทดแทนยาปฏิชีวนะ เช่น สารทดแทน วัคซีนหรือโมเลกุลใหม่ๆ รวมถึงหาวิธียับยั้งกลไกการดื้อยาหลายชนิดพร้อมกัน เพื่อให้สามารถนำยาปฏิชีวินะที่เชื้อเคยดื้อต่อยานี้ นำกลับมาใช้ได้อีก
วันที่ 16 มีนาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดตัว “นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประจำปี 2565” ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.รุ่งทิพย์ ชวนชื่น แห่ง คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงาน NRCT Talk: นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 ครั้งที่ 2 ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีภารกิจที่สำคัญในการให้รางวัล ประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยเป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการส่วนรวม ซึ่งในปีนี้ วช. ได้มอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ให้แก่ ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.รุ่งทิพย์ ชวนชื่น แห่ง คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากเป็นนักวิจัยที่มีความคิดริเริ่มและอุทิศตนเพื่องานวิจัย ได้สร้างองค์ความรู้ทางการวิจัยที่สำคัญ มีผลงานการวิจัยวิจัยที่โดดเด่นทางด้านการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาของประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความปลอดภัยของอาหารและการส่งออก ภายใต้แนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว”
ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.รุ่งทิพย์ ชวนชื่น กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจมากที่ได้รับรางวัลนี้ หลังจากเห็นรุ่นพี่ได้รับรางวัลกันแล้วจึงอยากได้บ้าง ซึ่งจากการศึกษาทำงานมาเป็นเวลา 28 ปีพบว่า เชื้อดื้อยาเป็นปัญหาที่สำคัญมากเนื่องจากไม่สามารถรักษาด้วยยาเดิมที่เคยใช้ได้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกประเทศทั่วโลก และจำเป็นต้องหาทางแก้ไขและเป็นโจทย์วิจัยที่ดีที่จะทำต่อไป
ทั้งนี้จากข้อมูลของแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560–2564 กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า ทั่วโลกมีการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 700,000 คน และหากไม่เร่งแก้ไขปัญหา คาดว่าใน พ.ศ. 2593 การเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาจะสูงถึง 10 ล้านคน ประเทศในทวีปเอเชียจะมีคนเสียชีวิตมากที่สุด คือ 4.7 ล้านคน คิดเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงถึงประมาณ 3.5 พันล้านล้านบาท (100 trillion USD) สําหรับประเทศไทย การศึกษาเบื้องต้น พบว่า มีการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 38,000 คน คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมสูง ถึง 4.2 หมื่นล้านบาท
สำหรับงานวิจัยปัญหาเชื้อดื้อยาของศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.รุ่งทิพย์ ดำเนินภายใต้แนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” ที่เน้นการศึกษาสถานการณ์และข้อมูลเชิงลึกในระดับพันธุกรรมที่รวมถึงกลไกการดื้อยา การถ่ายทอดยีนดื้อยา การคัดเลือกร่วม การดื้อข้ามและการตรวจวินิจฉัยเชื้อดื้อยา เพื่อแก้ปัญหา “เชื้อดื้อยา” ในคน สัตว์และสิ่งแวดล้อม โดยโครงการวิจัยเริ่มจากประเทศไทย ขยายไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียน เอเชียแปซิฟิก รวมไปถึงแอฟริกา เพื่อแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในระบบปศุสัตว์ของประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ผลงานวิจัยครอบคลุมการเฝ้าระวังในระดับฟีโนไทป์และจีโนไทป์ ศึกษาข้อมูลเชิงลึกในระดับพันธุกรรม โดยพบความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมของเชื้อดื้อยาที่แยกได้จากปศุสัตว์ เนื้อสัตว์ สัตว์น้ำและคน รวมทั้งความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมของเชื้อดื้อยาในประเทศไทย และภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาจึงจำเป็นต้องจัดการทั้งระบบ การใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุสมผลเป็นทางออกที่สำคัญของการรักษาสมดุลระหว่างการใช้ยาต้านจุลชีพและเชื้อดื้อยา
“หัวใจสำคัญในการวิจัยคือ การเน้นแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาแบบสุขภาพหนึ่งเดียว ซึ่งพบว่า การร่วมมือกันของภาครัฐบาล เอกชนและประชาชน เป็นสิ่งสำคัญ การแก้ปัญหาต้องทำเป็นระบบ ทำที่จุดใดจุดหนึ่งไม่ได้ ซึ่งไทยโชคดีที่ภาครัฐ รัฐบาล ภาคเอกชน ภาคการศึกษาทำงานด้วยกันได้ นอกจากนี้ไทยมีแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับเชื้อดื้อยาอยู่ นับว่าเรามีวิวัฒนาการที่ดีในการแก้ไขปัญหา”
ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.รุ่งทิพย์ กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันผลงานวิจัยได้นำมาใช้ประโยชน์แล้วโดยนำความรู้ที่ได้ไปสนับสนุนกติกาของกรมปศุสัตว์นำไปใช้งาน อาทิ ด้านตัวบทกฎหมายและแก้ไขเกี่ยวกับเชื้อดื้อยา เพื่อให้การแก้ไขเป็นไปอย่างถูกต้องและมีหลักทางวิทยาศาสตร์รองรับ
อย่างไรก็ดียังมีโจทย์วิจัยอีกหลายอย่างที่ต้องศึกษาต่อยอดและยังต้องหาคำตอบต่อไป อาทิ เมื่อรู้ปัญหา เราแก้ไขปัญหาแล้วต้องมีการติดตามเฝ้าระวังและดูว่ามาตรการต่าง ๆ ที่นำไปใช้มีประสิทธิภาพหรือไม่ , การวิจัยหาคำตอบต่อเนื่องจากการค้นพบในการวิจัยว่า ทำไมเชื้อดื้อยายังคงอยู่แม้จะเลิกใช้ยาปฏิชีวนะแล้ว, เป็นไปได้หรือไม่ที่เชื้อดื้อยาจะทำให้เกิดความรุนแรงในการก่อโรคมากขึ้น เป็นไปได้หรือไม่ที่การใช้ยาไปดึงยีนที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยก่อความรุนแรงของโรค และทำให้มีความรุนแรงในการก่อโรคมากขึ้น
นอกจากนี้ยังคิดทำวิจัยเกี่ยวกับสารทดแทนยาปฏิชีวนะ (Antibiotic Alternative) เนื่องจากมองว่า เมื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะ จำเป็นต้องหาทางออกให้กับเกษตรกรด้วย เช่น หาอย่างอื่นทดแทนอย่างโปรไบโอติก วัคซีน หรือค้นหาโมเลกุลใหม่ ๆ ที่ควรต้องทำต่อ สำหรับอีกสิ่งที่อยากทำคือ ในห้องปฏิบัติการมีข้อมูลเกี่ยวกับกลไกการดื้อยาหลายชนิดพร้อมกัน ซึ่งต้องค้นหาอะไรมายับยั้งกลไกนี้ เพื่อทำให้เราเอายาปฏิชีวินะที่เชื้อเคยดื้อต่อยานี้นำกลับมาใช้ได้อีก
ส่วนปัญหาอุปสรรคในการวิจัยนั้น ในส่วนของผู้วิจัยจะต้องมีความต้องตั้งใจและการได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนซึ่งเป็นปัญหาสากล เพราะบางครั้งอาจทำให้ผู้ศึกษาจำเป็นต้องไปทำวิจัยเรื่องอื่น ส่วนการวิจัยเรื่องเชื้อดื้อยา ต้องอาศัยการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษากับภาครัฐเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งต้องทำให้สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ ความรู้ทางวิชาการและตัวบทกฎหมาย
ปัจจุบัน องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลเฝ้าระวังและติดตามการดื้อยาปฏิชีวนะระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมวิจัยของ ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.รุ่งทิพย์ ยังร่วมจัดทำโครงการทดสอบความเชี่ยวชาญทางห้องปฏิบัติการด้านตรวจหาเชื้อดื้อยาในภูมิภาคเอเชียด้วย
สำหรับการระมัดระวังเชื้อดื้อยาของภาคประชาชน ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.รุ่งทิพย์ได้แนะนำว่า เวลาซื้อเนื้อสัตว์ไม่ว่าจะเป็นชนิดไหนต้องเลือกซื้อในแหล่งที่เชื่อถือได้ มีการเก็บรักษาที่ดีหรือแช่แข็ง ไม่เก็บรวมกับสิ่งอื่น และต้องปรุงสุกเท่านั้น เพื่อไม่นำเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
ทั้งนี้ วช. ได้มีการจัดงาน NRCT Talk: นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชน และยังเป็นการเชิดชูนักวิจัย นักประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้นักวิจัย นักประดิษฐ์เกิดการพัฒนาศักยภาพและสมรรถนะการผลิตผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ สามารถผลักดันการใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมตลอดจนการผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น กิจกรรม ภารกิจ และผลการดำเนินงาน ของ วช. เพื่อให้สื่อมวลชนเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานและกิจกรรมของ วช. ไปสู่ชุมชนและสาธารณชนเพื่อให้ได้ทราบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง