วช. หนุน วิจัยดนตรี ต่อยอดนวัตกรรมเพลงพื้นบ้านจังหวัดสุโขทัย สู่ “ซิมโฟนีออร์เคสตรา”
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขยายผลต่อยอดนวัตกรรม สร้างจินตนาการเพลงพื้นบ้าน สนับสนุนจัดกิจกรรม “ดนตรีและเพลงที่สุโขทัย” ชูคอนเซ็ปต์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่ในบริบทที่สอดคล้องการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเพื่อสรรเสริญพระบารมี รัชกาลที่ 5
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา วช. ร่วมกับ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และวิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม จัดกิจกรรม “ดนตรีและเพลงที่สุโขทัย” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสังกัด อว. และประชาชนที่สนใจได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า กิจกรรมดนตรีและเพลงที่สุโขทัย เวทีข้างวัดมหาธาตุ วช. ได้สนับสนุนการวิจัยภายใต้ “โครงการวิจัยพื้นที่ทางวัฒนธรรมดนตรีเพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์จินตนาการใหม่โดยอาศัยร่องรอยวิถีชีวิตของชุมชนผ่านศิลปินในท้องถิ่นผู้สืบทอดวัฒนธรรมดนตรี เพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์จินตนาการใหม่โดยอาศัยร่องรอยวิถีชีวิตของชุมชนผ่านศิลปินในท้องถิ่นผู้สืบทอดวัฒนธรรมดนตรีของชุมชน” และ “โครงการขยายผลต่อยอดนวัตธรรมเพลงพื้นบ้านเพื่อเผยแพร่ให้เป็นมรดกชาติ” แก่ “มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข”
ดำเนินการโดย รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข เพื่อเป็นการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และกระตุ้นให้เกิดการเสริมสร้างสิ่งใหม่บนรากฐานสิ่งเก่า เพื่อรักษาเสถียรภาพและอัตลักษณ์ของสังคมไทยให้สืบทอดและคงอยู่ต่อไป
กิจกรรม “ดนตรีและเพลงที่สุโขทัย” เป็นการโชว์ของวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ควบคุมและเรียบเรียงเพลงโดย พันเอกประทีป สุพรรณโรจน์ ซึ่งฉากหลังเป็นวัดมหาธาตุจะทำให้ผู้ฟังเสียงเพลงสัมผัสมิติของความเคลื่อนไหวและมีชีวิต พลังของเพลงจะสร้างมโนภาพให้เกิดขึ้น เพื่อมองย้อนกลับไปในบรรยากาศโบราณ “วัดมหาธาตุ” และจินตนการภาพของสุโขทัยให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งตามเสียงที่ได้ยิน การแสดงในครั้งนี้ ได้นำดนตรีพื้นบ้านซึ่งเป็นบทเพลงสมัยสุโขทัยได้รับการคัดเลือกมาเรียบเรียงใหม่ ซึ่งถือเป็นการวิจัยในรูปแบบหนึ่ง พร้อมทั้งบันทึกเสียงและบันทึกเป็นโน้ตสากล
ส่วนเครื่องดนตรีสากลที่ใช้ในการบรรเลงครั้งนี้ ประกอบด้วย ไวโอลินหนึ่ง ไวโอลินสอง วิโอลา เชลโล ดับเบิลเบส ฟลุต โอโบ คลาริเน็ต บาสซูน ฮอร์น ทรัมเป็ต ทรอมโบน เบสทรอมโบน เครื่องจังหวะและทิมปานี และเครื่องประกอบจังหวะ และแบ่งการแสดงเป็น 15 ชุดการแสดง ได้แก่ 1.การแสดงคณะกลองยาวสุโขทัย โดยคณะทองหลอมศรีวิไล 2.ระบำมรดกโลกสุโขทัย โดยนางรำจากวิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย 3.เพลงสรรเสริญถวายไชยมงคล รัชกาลที่ 5 ประพันธ์และเรียบเรียงดนตรีโดยครูไมเคิล ฟุสโก (Michael Fusco) 4.เพลงขอม ขับร้องโดย นพพร เพริศแพร้ว 5.เพลงเครือญาติ ขับร้องโดยนพพร เพริศแพร้ว
6.เพลงเขมรไล่ควาย บรรเลงโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า 7.เพลงคางคกปากสระ บรรเลงโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า 8.เพลงนางนาค นาคราช พราหมณ์ดีดน้ำเต้า ขับร้องโดยนพพร เพริศแพร้ว 9.เพลงคนไทย ขับร้องโดยนพพร เพริศแพร้ว 10.เพลงเดินทาง ขับร้องโดยนพพร เพริศแพร้ว 11.เพลงมอญกละ บรรเลงโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า 12.เพลงกาเหว่า ขับร้องโดยอิสรพงศ์ ดอกยอ 13.เพลงสาวสุโขทัยขับร้องโดย อิสรพงศ์ ดอกยอ
14.เพลงสร้อยแสงแดง บรรเลงโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า 15.เพลงตับฝรั่ง (เมดเลย์ ทำนองเพลง Yankee Doodle, Wait for the Wagon, When the saints go marching in, Marching Through Georgia ซึ่งในส่วนของเพลงสรรเสริญถวายไชยมงคล รัชกาลที่ 5 และเพลงสำเนียงของชาวสยาม เป็นเพลงที่ประพันธ์และเรียบเรียงดนตรี โดย ครูไมเคิล ฟุสโก เนื้อร้องโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ครูไมเคิล ฟุสโก ผู้นำแตรวงทหารเรือ เป็นผู้ประพันธ์ บรรเลงขึ้นครั้งแรกในวังหลวง งานเลี้ยงน้ำชา ที่ริมบันไดใหญ่ พระที่นั่งจักรี เมื่อวันที่ 15-16 กันยายน พ.ศ. 2439 นอกจากนี้ ยังมีการสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมวัดมหาธาตุประกอบบทเพลง โดย ดร.สุชาติ วงษ์ทอง
การจัดกิจกรรม “ดนตรีและเพลงที่สุโขทัย”ได้จัดให้เข้าชมในจำนวนที่นั่งตามข้อกำหนดการป้องกันโควิด-19 ของ จังหวัดสุโขทัย และการแสดงครั้งนี้ใช้วิธีถ่ายทำโดยบันทึกภาพและเสียงเพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์และสื่อโทรทัศน์ด้วย