วช.โชว์งานวิจัยมุ่งเป้ามันฯ
นักวิชาการ-เกษตรกร-โรงมัน
เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)จัดการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “งานวิจัยมุ่งเป้า ด้านมันสำปะหลัง” โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการสัมมนา ณ วช. เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยที่ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยที่มุ่งเป้าแก่ นักวิชาการ อาจารย์ หน่วยงานต่าง ๆ
ศ.กิตติคุณ นพ. สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นพืชไร่ที่ปลูกได้ทั่วไป ทนต่อสภาพอากาศแล้ง สามารถขยายพันธุ์ได้ดีและปลูกได้ตลอดทั้งปี ในช่วงปี 2554-2556 ไทยผลิตมันสำปะหลังได้เฉลี่ย 27.3 ล้านตันต่อปี โดยมีสัดส่วนที่ใช้ในประเทศประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผลผลิตที่เหลือนำมาแปรรูปเพื่อส่งออก 70-80เปอร์เซ็นต์ สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้ 3,244.1 ล้านเหรียฐสหรัฐ ความต้องการมันสำปะหลังทั้งในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มซสูงขึ้น เนื่องจากแป้งมันสำปะหลังสามารถนำมาใช้ทดแทนแป้งสาลีที่มีกลูเตน(gluten) ได้
วช.เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าวและได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) โดยทำยุทธศาสตร์การวิจัยรายประเด็นด้านอุตสาหกรรมมันสำปะหลังและจัดสรรทุนอุดหนุนการวิจัยที่มุ่งเป้าตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศด้านมันสำปะหลังนับแต่ปีงบประมาณ 2555 เป็นต้นมา โดยมีสวทช.เป็นผู้บริหารุทน โดยมีโครงการที่ได้ดำเนินการวิจัยเสร็จสิ้นแล้ว วช.และสวทช.ได้ร่วมกันจัดการสัมมนาวิชาการ ขึ้นเพื่อเผยแพร่ให้นักวิชาการ อาจารย์ หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐ และภาคเอกชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเกษตรกรทั่วไปที่สนใจได้รับรู้นวัตกรรมและความก้าวหน้าของการปลูกมันสำปะหลัง
ศ.กิตติคุณ นพ. สุทธิพร กล่าวว่า สำหรับงานวิจัยมุ่งเป้าหมายถึง การตั้งไว้ล่วงหน้าว่า เราต้องการจะเห็นอะไร เวลานี้มีทั้งด้านข้าว และยางพารา ส่วนด้านมันสำปะหลัง ความต้องการมาจากการหารือร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด และเน้นการใช้ประโยชน์เป็นหลัก ซึ่งผู้ที่นำงานวิจัยไปใช้หลักๆ คือ เกษตรกรและอุตสาหกรรมแปรรูป
แต่นักวิชาการเสนอว่า มันสำปะหลังไม่ได้นำมาใช้ได้เฉพาะด้านอาหารเท่านั้น ทว่ายังนำไปใช้ด้านอื่นได้อีกเช่น เป็นส่วนประกอบวัตถุดิบทำพลาสติกชีวภาพ อัลกอฮอลล์และพลังงาน จากนั้นการวิจัยมุ่งเป้าจึงเกิดขึ้น โดยเป้าหมายสำคัญคือ ต้องการพัฒนามันสำปะหลังพันธุ์ดีช่วยเพิ่มผลผลิต พัฒนากระบวนการปลูก สำหรับส่วนที่เป็นความต้องการของโรงงานคือ ต้องการได้แป้งมันที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นและมุ่งทำพลาสติกชีวภาพ
3ปีที่ผ่านมาได้ทำการวิจัยไปประสบความสำเร็จพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้วและนำมาจัดสัมมนาเพื่อดูว่าตรงกับความต้องการของเกษตรกรและผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปผลิตแป้งมันสำปะหลังมากน้อยแค่ไหน หรือถ้ามีใครสนใจต้องการนำผลงานวิจัยไปใช้ต่อ ทางวช.พร้อม มีกระบวนการถ่ายทอดและให้นำไปขยายผลต่อ
สำหรับงานวิจัยเด่นได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ “มันสำปะหลังพิรุณ1” ที่มีหัวใหญ่ ให้แป้งปริมาณสูง ผลผลิตสูง ต้านทานโรคและแมลงและใช้ปุ๋ยน้อย เครื่องจักรกลเกษตรสำหรับเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเฉพาะกาล เช่น เชื้อราทำลายมันสำปะหลัง พบว่า ใช้สารธรรมชาติฆ่าได้ ส่วนเพลี้ยแป้ง ก็สามารถใช้แมลงธรรมชาติจัดการได้