วธ. จัดพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช -ตักบาตรพระสงฆ์ 99 รูป งาน “ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์”
วธ. จัดพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช พิธีตักบาตรพระสงฆ์ 99 รูป งาน “ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์”
วันที่ 21 เมษายน 2565 เวลา 07.00 น. พระเทพวชิรโมลี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และพิธีตักบาตรพระสงฆ์ 99 รูป งาน “ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
นายอิทธิพล กล่าวว่า รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและเอกชน จัดงานเนื่องในโอกาสครบรอบปีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2325 ต่อเนื่องมา ตั้งแต่ปี 2557 โดยการจัดงานครั้งนี้ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ที่ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความผาสุกและความเจริญในทุกๆ ด้าน สืบมาจนถึงปัจจุบันซึ่งครบ 240 ปี รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี และความภาคภูมิใจในความเป็นไทยร่วมกัน ช่วยสนับสนุนสินค้าของชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ สร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและฟื้นฟูการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การจัดงาน “ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-24 เมษายน 2565 โดยจัดให้มีพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายสมเด็จ พระบูรพมหากษัตริยาธิราช และพิธีตักบาตรพระสงฆ์ 99 รูป วันที่ 21 เมษายน 2565 ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นวัดโบราณ สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อว่า วัดโพธาราม ในปีพุทธศักราช 2311 เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี โดยกำหนดเขตทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้แม่น้ำผ่านกลางพระนคร วัดโพธารามตั้งอยู่ในเขตกำแพงพระนครฝั่งตะวันออก จึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง และมีพระราชาคณะปกครองตลอดสมัยกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดโพธารามขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม สร้างพระอุโบสถ พระระเบียง พระวิหาร ตลอดจนสิ่งก่อสร้างที่จำเป็นอื่นๆ และสร้างถาวรวัตถุ แล้วโปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองต่างๆ มาประดิษฐานบริเวณพระอุโบสถ พระวิหารทิศ และพระระเบียง ฯลฯ และพระราชทานนามว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส พุทธศักราช 2375 – 2391 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ สิ่งใดชำรุดทรุดโทรมมากก็รื้อสร้างใหม่ขยายรูปทรงบ้าง สร้างเพิ่มขึ้นใหม่บ้าง ส่วนกุฏิสร้างใหม่เป็นตึก และโปรดให้จารึกสรรพตำราต่างๆ 8 หมวด ลงแผ่นหินอ่อนประดับไว้ตามศาลารายเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน
สมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ปฏิสังขรณ์พระรัศมี พระพุทธไสยาสน์ ทรงสถาปนาพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาล และแก้สร้อยนามพระอารามเป็น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร พระองค์ทรงริเริ่มพระราชประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางสถลมารค ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จไปทรงนมัสการพระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ และทรงบำเพ็ญพระราชกุศล รัชกาลต่อมาจึงถือเป็นพระราชประเพณีว่าเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางสถลมารคจะเสด็จไปทรงนมัสการพระพุทธเทวปฏิมากร ณ พระอุโบสถวัดพระเชตุพน.
ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้กล่าวเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมงาน “ใต้ร่มพระบารมี 240 ปีกรุงรัตนโกสินทร์” ที่จัดถึงวันที่ 24 เมษายน 2565 โดยปีนี้มีการจัดอย่างเต็มรูปแบบและภายใต้มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยกิจกรรมมีความครบถ้วน ทั้งสาระ ความบันเทิงและสนับสนุนด้านเศรษฐกิจ มีทั้งการจัดแสดงมหรสพ การแสดงศิลปวัฒนธรรม การจัดเส้นทางท่องเที่ยว ทั้งเรื่องของการไหว้พระ ชมวัง
ประชาชนสามารถเข้าชมงานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ตามการจัดงานที่ 9 จุดสำคัญ ซึ่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพให้บริการรถโดยสารสาธารณะแก่ประชาชน รับ-ส่ง ตามจุดต่าง ๆ บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
https://www.m-culture.go.th/th/article_view.php?nid=172386
การจัดงาน 9 จุดสำคัญประกอบด้วย
1 : โซน ย้อนวันวาน ยลงานวัง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และโรงละครแห่งชาติ
มีการอัญเชิญพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทั้ง 10 รัชกาลประดิษฐาน ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยได้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ การแสดงศิลปวัฒนธรรม เช่นการแสดง แสง สี เสียง และสื่อผสมจินตนฤมิต ชุด “ใต้ร่มฉัตรนฤบดินทร์ รัตนโกสินทร์ 240 ปี” หุ่นละครเล็ก โจ หลุยส์ โนรา ลิเก โดยศิลปินแห่งชาติ และวงดนตรี สุนทราภรณ์ เป็นต้น
2 : โซน นั่งกินลม ชมมรดกวัฒนธรรม ณ สวนสันติชัยปราการ มีกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมและการสาธิตมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เช่น การแสดงนาฏลีลาพื้นบ้านภาคอีสาน เพลพื้นบ้านลำตัด การแสดงหนังตะลุงปักษ์ใต้ ตลาดวัฒนธรรมและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าจากชุมชน
3 : โซน เรียนรู้ความรุ่งเรืองของแผ่นดิน ณ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ชมนิทรรศน์รัตนโกสินทร์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
4 : โซน เยาวชนสรรค์สร้างงานศิลป์ ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน มีกิจกรรม เช่น ตลาดนัดเยาวชน การแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเด็กและเยาวชน นิทรรศการภาพเก่าเล่าเรื่องกรุงรัตนโกสินทร์ และห้องออดิทอเรียม ชั้น 1 จัดฉายภาพยนตร์ และเสวนาวิชาการ เช่น เสภารัตนโกสินทร์ เป็นต้น
5 : โซน เที่ยวงานวัด ท่องวิถีชุมชน ณ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร มีพิธีเปิดงานวัดพัฒนาประชาคมไหว้พระ รับพรย้อนวันวาน สารพันอาหารย่านกะดีจีน-คลองสาน การประกวดอาหาร ประกวดละครชาตรี การแสดงศิลปวัฒนธรรม เช่น วงดนตรีลูกทุ่ง โปงลาง ลิเก
6 : โซน ชวนย้อนวันวาน ชมมหรสพสมโภช ณ โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง การแสดงชุดระบำโบราณคดี การแสดงโขน ชุด หนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา
7 : โซน เรืองโรจน์บารมีแห่งพระภูมินทร์ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มีพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และพิธีตักบาตรพระสงฆ์วันที่ 21 เมษายน 2565 และไหว้พระเสริมสิริมงคล
8 : โซน ปฐมบทแห่งแผ่นดินรัตนโกสินทร์ ณ ศาลหลักเมือง เชิญชวนประชาชนเข้าสักการะศาลหลักเมือง และพิธีบวงสรวงเทพยดา วันที่ 21 เมษายน 2565
9 : โซน เที่ยวยล ชมวัง ไหว้พระ ขอพร ณ พระบรมมหาราชวัง มีกิจกรรมไหว้พระเสริมสิริมงคลเยี่ยมยลชมงานใต้ร่มพระบารมี 240 ปี ณ พระบรมมหาราชวัง วัด พิพิธภัณฑสถานและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมรอบเกาะรัตนโกสินทร์ 18 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครและโรงละครแห่งชาติ, สวนสันติชัยปราการ, พิพิธภัณฑ์ตำรวจ, วังปารุสกวัน, วัดบวรนิเวศวิหาร, วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร, พระบรมมหาราชวัง, ศาลหลักเมือง, พิพิธภัณฑ์ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม, วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร, ศาลาเฉลิมกรุง, วัดสระเกาศราชวรมหาวิหาร, วัดราชนัดดารามวรวิหาร, นิทรรศน์รัตนโกสินทร์, หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน, วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรวิหาร, วัดราชบพิธมหาสีมาราม, วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม