สตช.นำ “สมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0” ที่ วช. หนุน คว้ารางวัลระดับโลก มา ประเดิมรายการ Live สดครั้งแรก

สตช. เปิดตัวรายการ “ปั๊ดอยากเล่า น้องอยากแชร์” นำ ‘สมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0’ ที่ วช. หนุน คว้ารางวัลสุดยอดตำรวจโลก มาประเดิมในไลฟ์สดเฟชบุค เป็นครั้งแรก

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดตัวรายการ “ปั๊ดอยากเล่า น้องอยากแชร์” ดำเนินรายการในรูปแบบ LIVE สตรีมมิ่งบนเฟสบุคแฟนเพจ Smart Safety Zone 4.0 นำทีมโดย พลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจโทสุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ



ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อํานวยการ กลุ่มโครงการพิเศษ และศูนย์พัฒนาดิจิทัลและนวัตกรรม (DEPA) มาร่วมรายการ ดำเนินรายการโดย พันตำรวจเอกกัมพล รัตนประทีป รองผู้บัญชาการภาคจังหวัดพิจิตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ ดร.ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา



การไลฟ์สดครั้งแรกของรายการ “ปั๊ดอยากเล่า น้องอยากแชร์” ในครั้งนี้ ได้นำโครงการ ‘สมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0’ (Smart Safety Zone 4.0) ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ The Best Experience in Community Policing ประเภทการป้องกันอาชญากรรม เป็นรางวัลที่มอบให้กับองค์กรตํารวจที่มีผลงานในการพัฒนาแนวคิดตํารวจชุมชนไปสู่การปฏิบัติได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด จากประชุมสุดยอดตํารวจโลก ในด้านการปฏิบัติการชุมชนสัมพันธ์ยอดเยี่ยม ณ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อวันที่ 14 – 17 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ โครงการ ‘สมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0’ ยังได้รางวัล Gold Award จากงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ (Thailand research Expo) จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรี ถือเป็นรางวัลแรกในระดับประเทศ


โครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 ของ สตช. ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการนำร่องในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นลำดับแรก ในการพัฒนารูปแบบวิธีการป้องกันอาชญากรรมโดยใช้นวัตกรรมและยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางตามแนวคิดเรื่อง “เมืองอัจฉริยะ” โดย สตช. ได้เริ่มคัดเลือกพื้นที่ที่เป็นแลนด์มารค์ แหล่งเศรษฐกิจ และพื้นที่ที่ประชาชนมีความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมมาสร้างเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยการยกระดับการป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่สาธารณ ตามแนวคิดเรื่อง “เมืองอัจฉริยะ” ยกระดับการทำงานของตำรวจ ตามกรอบแนวคิด “ราชการ 4.0” ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล และบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และ สตช. ในด้านการป้องกันอาชญากรรม
ทั้งนี้ในระยะแรกได้คัดเลือกสถานีตำรวจทั่วประเทศ จำนวน 15 สถานี เป็นสถานีนำร่อง และในระยะที่ 2 ได้ทำการขยายต่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ตอนนี้มีอยู่ 100 สถานีตำรวจที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยมีการดำเนินการ ดังนี้ 1) สำรวจกล้อง CTV ในพื้นที่ ปรับมุมกล้อง และบูรณาการการใช้งานกล้องร่วมกัน พร้อมติดตั้งเพิ่มเติม 2) นำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรม เช่น การติดตั้งกล้อง AI ตรวจจับใบหน้า และกล้อง AI ตรวจจับทะเบียนรถยนต์ เป็นต้น

3) ติดตั้งเสาสัญญาณ S.O.S เพื่อประชาชนจะได้สามารถแจ้งเหตุด่วนได้ทันที 4) จัดทำห้องปฏิบัติการ CCOC โดยเชื่อมสัญญาณจาก สตช. หน่วยงานราชการ และเอกชนมายังห้องปฎิบัติการ และนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้กับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ เพื่อคอยควบคุมและสั่งการได้ตลอด 24 ชั่วโมง 5) ใช้แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อความรวดเร็วในการสื่อสาร เช่น Police i lert u, Police 4.0, LINE Official
6) ร่วมกับหน่วยงานในท้องที่ปรับภูมิทัศน์พื้นที่เสี่ยงให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เช่น ตัดต้นไม้ แต่งกิ่งไม้ ในพื้นที่รกล้าง ขีดสี ตีเส้น ทำความสะอาดพื้นที่ ติดไฟส่องสว่าง 7) แสวงหาความร่วมมือจากประชาชน และสร้างกลไกการมีส่วนรวมจากประชาชนในการช่วยป้องกันอาชญากรรม

โครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 ได้ดำเนินการไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพโดยการสนับสนุนของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่ช่วยสร้างมิติใหม่แห่งความปลอดภัย จากพื้นที่สายเปลี่ยว เปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่น อุ่นใจ และปลอดภัยในชุมชน

สำหรับ รายการ “ปั๊ดอยากเล่า น้องอยากแชร์” จะมีการไลฟ์สดบนเฟสบุคแฟนเพจ Smart Safety Zone 4.0 ในทุกวันศุกร์ เวลา 19.00 น.