อพวช. ส่งทีมนักวิชาการร่วมสำรวจระบบนิเวศ สวนเบญจกิติ กับ “กิจกรรมปฏิบัติการสำรวจธรรมชาติในเมือง (City Nature Challenge 2022)”

อพวช. ส่งทีมนักวิชาการร่วมสำรวจระบบนิเวศ สวนเบญจกิติ กับ”กิจกรรมปฏิบัติการสำรวจธรรมชาติในเมือง (City Nature Challenge 2022)”


องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับองค์กรภาครัฐ และเอกชน รวมถึงอาสาสมัครที่ทำงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวิทยาศาสตร์พลเมือง ส่งทีมนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ อาทิ พืช แมลง สัตว์เลื้อยคลาน นำทีมผู้สนใจร่วม“กิจกรรมปฏิบัติการสำรวจธรรมชาติในเมือง (City Nature Challenge 2022)” ณ สวนเบญจกิติ กรุงเทพฯ เพื่อเก็บข้อมูลสิ่งมีชีวิตชนิดต่างในเขตเมืองอย่างเป็นระบบ ด้วยการสำรวจ เก็บตัวอย่าง แล้วบันทึกผ่านแอปพลิเคชัน iNaturalist หรือ eBird ที่สามารถนำไปเป็นฐานข้อมูลของประเทศและของโลกได้เพื่อนำไปใช้ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองต่อไปได้ในอนาคต

สำหรับ “กิจกรรมปฏิบัติการสำรวจธรรมชาติในเมือง (City Nature Challenge 2022)” จัดขึ้นแบบ ออนไซต์ ในวันที่ 30 เมษายน 2565 เวลา 15.00 – 21.00 น. ณ สวนเบญจกิติ กรุงเทพฯ โดย อพวช. ได้ส่งนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมชาติวิทยาในด้านต่าง ๆ เข้าร่วมสำรวจทั้งหมด 8 ท่าน ได้แก่ นายสัญชัย เมฆฉาย ผู้เชี่ยวชาญด้านสะเทินน้ำสะเทินบก
นายทัศนัย จีนทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลง (ผีเสื้อ), ดร.รุ่งทิพย์ วงศ์เลอศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงน้ำ, ดร.ปพิชญา เตียวกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลง, นายวิสูจน์ สุพงษ์ และนางสาวพิชญ์สินี มีธง ผู้เชี่ยวชาญด้านพืช นางสาวสิรีพัชร โกยโภไคสวรรค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไส้เดือน ตะเข็บ ตะขาบ และนางสาวบังอร ช่างหลอม ผู้เชี่ยวชาญด้านหอยทาก เพื่อให้คำแนะนำการจำแนกแยกประเภทสัตว์และพืชที่พบภายในสวนเบญจกิติ กรุงเทพฯ ให้กับผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าว ซึ่งจากการสำรวจในครั้งนี้ ณ สวนเบญจกิติ สรุปผลปรากฏที่ได้ คือ 438 observations 154 species และ71 observers

“กิจกรรม City Nature Challenge 2022” เป็นกิจกรรมระดับโลกที่จัดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกมากกว่า 400 เมือง ใน 40 ประเทศทั่วโลก เพื่อร่วมสำรวจธรรมชาติในเมือง พร้อมเชื่อมโยงประชาคมเมืองให้เข้ากับระบบนิเวศในเขตเมืองที่ตนเองอยู่อาศัย หวังสร้างความตระหนักและให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ธรรมชาติจากสิ่งใกล้ตัว โดยประเทศไทยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2565 ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล, เมืองระยอง, เมืองขอนแก่น, เมืองเชียงใหม่ และเมืองหาดใหญ่ แล้วทำการรวบรวมสรุปผลการสำรวจเพื่อนำไปประมวณผลการค้นพบความหลากหลายทางชีวภาพที่ได้จากเขตเมืองกับเครือข่ายสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 400 เมือง ใน 40 ประเทศทั่วโลก ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2565 ต่อไป


“กิจกรรม City Nature Challenge 2022” ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชนและองค์กรอิสระ อาทิ มูลนิธิโลกสีเขียว, มูลนิธิรักสัตว์ป่า, องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), กลุ่มบริษัทดาว และโครงการ Dow Thailand Mangrove Alliance, บริษัท ดีแคทลอน (ประเทศไทย) จำกัด, เครือข่ายเยาวชนระดับโลกด้านความหลากหลายทางชีวภาพประจำประเทศไทย (GYBN Thailand), Nature Plearn Club, โครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคต, เถื่อนChannel, ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกลุ่มนก หนู งูเห่า