อว.มอบประกาศนียบัตรยินดี นักวิจัยมธ.พัฒนา “นมข้นหวานจากข้าว-ธัญพืช” หวานอร่อยไร้น้ำตาล รางวัลเหรียญทองเวทีเจนีวา
อว. มอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีกับนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ วช. สนับสนุนจนไปสร้างชื่อในต่างแดนคว้ารางวัลจากเวทีนานาชาติ 11 เวทีมากถึง 164 ผลงาน รวมถึงผลงาน “ผลิตภัณฑ์นมข้นหวานจากข้าวและธัญพืช” นมข้นหวานไร้น้ำตาล ของทีมนักวิจัยจากรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร. กฤติยา เขื่อนเพชร หัวหน้าทีมวิจัย คว้ารางวัลเหรียญทองจากเวทีนานาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย โดยมี ศ.นพ.ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีและมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ พร้อมด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวรายงานฯ ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ ชั้น 3 สโมสรทหารบก วิภาวดี
ทั้งนี้หนึ่งในทีมวิจัยที่เข้ารับมอบประกาศนียบัตรในครั้งนี้ได้แก่ ทีมวิจัยที่มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร. กฤติยา เขื่อนเพชร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นหัวหน้าทีมวิจัย จากผลงานพัฒนา “ผลิตภัณฑ์นมข้นหวานจากข้าวและธัญพืช” ที่คว้ารางวัลเหรียญทอง จากเวทีนานาชาติ “SPECIAL EDITION 2022 INVENTIONS GENEVA EVALUTATION DAYS” ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา
นางสาวชริดา ภาคาทรัพย์ และนางสาวรวิพร พลพืช ผู้ร่วมทีมวิจัยเปิดเผยว่า ทีมวิจัยซึ่งมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤติยา เขื่อนเพชร เป็นหัวหน้าทีมวิจัยได้ผ่านโปรแกรมบ่มเพาะ ‘โปรแกรม NSTDA Deep Tech Acceleration’ ของสวทช. และได้เกิดการต่อยอดเชิงพาณิชย์ร่วมกับบริษัทสตาร์ทอัพ imFoodCreation เป็น ผลิตภัณฑ์ข้นหวานจากข้าวและธัญพืช โดยผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่เกิดจากเทคโนโลยีการออกแบบโครงสร้างอาหาร (Food Structure Creation) ร่วมกับการแปรรูปด้วยความร้อน (Thermal Processing) นำมาพัฒนาเป็นอาหารหวานทางเลือกจากพืชที่มีลักษณะปรากฏ เนื้อสัมผัส รวมถึงรสชาติหวานพอดี ใกล้เคียงกับนมข้นหวานปกติ โดยผลิตจากน้ำนมข้าว ซึ่งเป็นข้าวไทยที่มีค่าดัชนีน้ำตาลปานกลางถึงต่ำ ผสมกับนมธัญพืชหลากชนิด และพรีไบโอติกไซรัป ไม่มีส่วนผสมของนมวัว ไม่เติมน้ำตาล ปราศจากแลคโตส กลูเตน และเสริมใยอาหาร
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ ได้แก่ รสชาติอร่อยตามธรรมชาติของข้าวและธัญพืช ,มีสารอาหารที่ไม่ได้มาจากสัตว์เหมาะสำหรับผู้ทานมังสวิรัต, เหมาะกับคนแพ้แลคโตส ซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ที่พบในน้ำนมวัวและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ การแพ้เกิดจากร่างกายไม่สามารถย่อยน้ำตาลชนิดนี้ได้ ทำให้มีอาการทางเดินอาหารหลังจากดื่มนมวัว หรือรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น แน่นท้อง ท้องอืด อาเจียน และท้องเสีย,เหมาะกับคนแพ้กลูเตน ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบในธัญพืชบางชนิด เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรย์ อาการแพ้จะคล้ายกับคนแพ้แลคโตส ที่เกิดจากร่างกายไม่สามารถย่อยโปรตีนชนิดได้ ทำให้มีอาการปวดท้อง หรือมีอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย ขณะที่พรีไบโอติกไซรัปหรือน้ำเชื่อมพรีไบโอติก ช่วยสร้างสมดุลย์ในลำไส้ เนื่องจากมีพรีไบโอติกซึ่งเป็นอาหารของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้ มีใยอาหารช่วยในการขับถ่ายและให้แคลอรีน้อยกว่าน้ำตาลทั่วไป
ปัจจุบันการวิจัยคืบหน้าผลิตออกมาจำหน่ายแล้ว มีการผลิตเพื่อให้มีความปลอดภัยและผ่านการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)แล้ว โดยผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อแบบสเตอริไลซ์เซชัน จึงมีอายุการเก็บรักษานาน 1 ปีที่อุณหภูมิห้องโดยไม่เติมวัตถุกันเสีย และหากเปิดแล้วเก็บไว้ในตู้เย็นได้เป็นเวลา 1 เดือน มีทั้งหมด 3 สูตร ได้แก่ สูตรที่1.ออริจินอล (เด่นที่ข้าวและธัญพืช) สูตรที่2.งาดำโกโก้ (เพิ่มรสชาติเข้มข้นจากงาดำและโกโก้) และสูตรที่3. เมล็ดฟักทอง (สูตรปราศจากสารก่อภูมิแพ้) ถือเป็นผลิตภัณฑ์อาหารหวานที่ออกแบบมาเพื่อเติมความสุข เสริมสุขภาพ และตอบโจทย์พฤติกรรมการบริโภคแนวใหม่ในปัจจุบัน
นับว่าเป็นอีกผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพื่อสุขภาพ ซึ่งจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ ด้วยสนนราคา 129 บาทต่อถุงขนาด 120 กรัม สามารถดูรายละเอียดได้ผ่านช่องทาง : Facebook: https://www.facebook.com/Oryzwel/ และ Line Official Account: @oryzwel
อนึ่งการจัดงานในวันนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่สามารถคว้ารางวัลจากการประกวดนับตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2565 จนถึงปัจจุบัน รวมจำนวนทั้งสิ้น 164 ผลงาน จาก 11 เวที ระดับนานาชาติ ประกอบด้วย
1) เวที “The 6th Korea International Youth Olympiad 4i 2021” (KIYO 4i 2021) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี โดย นักประดิษฐ์ นักวิจัยไทยได้รับรางวัล เหรียญทองจำนวน 4 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 1 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 3 รางวัล
2) เวที “The 45th International Invention Show” (INOVA 2021) ณ เมืองซาเกร็บ สาธารณรัฐโครเอเชีย โดย นักประดิษฐ์ นักวิจัยไทยได้รับรางวัลเหรียญทองจำนวน 6 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 8 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 4 รางวัล
3) เวที “The XV International Warsaw Invention Show 2021” (IWIS 2021) ณ กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์ โดย นักประดิษฐ์ นักวิจัยไทยได้รับรางวัลเหรียญทองจำนวน 8 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 13 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 10 รางวัล
4) เวที “Seoul International Invention Fair 2021” (SIIF 2021) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี โดย นักประดิษฐ์นักวิจัยไทยได้รับรางวัล Grand Prize 1 รางวัล เหรียญทองจำนวน 6 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 8 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 12 รางวัล
5) เวที “2021 Kaohsiung International Invention & Design Expo” (KIDE 2021) ณ เมืองเกาสง ไต้หวัน โดย นักประดิษฐ์ นักวิจัยไทยได้รับรางวัลเหรียญทองจำนวน 7 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 10 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 6 รางวัล
6) เวที “The 32nd International Invention, Innovation & Technology Exhibition” (ITEX 2021) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย โดย นักประดิษฐ์ นักวิจัยไทยได้รับรางวัลเหรียญทองจำนวน 18 รางวัล เหรียญเงิน จำนวน 5 รางวัล และเหรียญทองแดง จำนวน 4 รางวัล
7) เวที “The 9th Macao International Innovation and Invention Expo” (MiiEX 2021) ณ เขตบริหารพิเศษมาเก๊าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดย นักประดิษฐ์ นักวิจัยไทยได้รับรางวัลเหรียญทองจำนวน 6 รางวัล และเหรียญเงินจำนวน 10 รางวัล
8) เวที “SPECIAL EDITION 2022 INVENTIONS GENEVA EVALUTATION DAYS” ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดย นักประดิษฐ์ นักวิจัยไทยได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ (Gold with Congratulations of the Jury) จำนวน 1 รางวัล เหรียญทองจำนวน 11 รางวัลเหรียญเงินจำนวน 18 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 5 รางวัล
9) เวที “Malaysia Technology Expo 2022” (MTE 2022) ณ สหพันธรัฐมาเลเซีย โดย นักประดิษฐ์ นักวิจัยไทยได้รับรางวัลเหรียญทองจำนวน 6 รางวัล และเหรียญเงินจำนวน 2 รางวัล
10) เวที “2022 Shanghai International Invention and Innovation Exhibition” ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดย นักประดิษฐ์ นักวิจัยไทย เหรียญทองจำนวน 9 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 9 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 8 รางวัล
11) เวที “The 33rd International Invention, Innovation & Technology Exhibition” (ITEX 2022) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย โดย นักประดิษฐ์ นักวิจัยไทยได้รับรางวัลเหรียญทองจำนวน 3 รางวัล และเหรียญเงินจำนวน 1 รางวัล
ผลงาน “ผลิตภัณฑ์นมข้นหวานจากข้าวและธัญพืช” ของทีมนักวิจัยจากรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้นำมาจัดนิทรรศการร่วมกับผลงานของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยอื่น ๆ ที่ได้รับรางวัลจากเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมจากเวทีนานาชาติ นับเป็นความสำเร็จของ วช. ในการผลักดันและส่งเสริมสนับสนุนทุนแก่นักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทย ก่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดผลงานในระดับสากลถือเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีระดับนานาชาติ ผลักดันให้นักวิจัยและนักประดิษฐ์ได้รับการยอมรับทั้งด้านนวัตกรรม วิชาการ ความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นเลิศ วช. มุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศให้ดียิ่งขึ้น