สภา – สสส. – ทส. จับมือ 4 หน่วยงานภาครัฐ-สถาบันการศึกษา-ภาคประชาสังคม จัดเวทีถกปัญหาสภาพภูมิอากาศ
สภา – สสส. – ทส. จับมือ 4 หน่วยงานภาครัฐ-สถาบันการศึกษา-ภาคประชาสังคม จัดเวทีถกปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “ชวน หลีกภัย” สั่งลุย มุ่งไทยลดมลพิษทางอากาศ ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ-เศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ที่ชั้น 1 อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่าย Thai Climate Justice for All (TCJA) และสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม จัดงานสัมมนาเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : ยุทธศาสตร์ของไทยและบทบาทของรัฐสภา” มีผู้เข้าร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคมกว่า 130 คน
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีแนวโน้มนำไปสู่ปัญหาระดับวิกฤติ ไทยให้ความสำคัญต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2608 จึงได้เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส โดยกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายในยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๓ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เป็นประเด็นเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่มีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาประเทศ ทั้งเรื่องการค้า การลงทุน การผลิตอุตสาหกรรม
นโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กติการะหว่างประเทศ ความมั่นคงทางอาหาร น้ำ พลังงาน รัฐสภา จึงเร่งสร้างความร่วมมือกับ สสส. ทส. และทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนามาตรการและกลไกสนับสนุน ทั้งด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ สังคม รวมทั้งการป้องกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบ ทั้งด้านสุขภาพ การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ การจัดหาน้ำสะอาด การสุขาภิบาล ความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพ การย้ายถิ่นของชุมชน สสส. เห็นความสำคัญของผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงยกระดับการดำเนินงานปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ด้าน “การลดผลกระทบสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อม” เป็น 1 ใน 7 ทิศทาง และเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 10 ปี พ.ศ. 2565-2574
“สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย มุ่งดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศผ่านโครงการ “พลเมืองตื่นรู้กอบกู้วิกฤติโลกร้อน” ส่งต่อข้อมูลสำคัญ บทเรียนความสำเร็จทั้งต่างประเทศและในประเทศ โดยเฉพาะแนวทางกู้วิกฤติโลกร้อน การสร้างความตื่นตัวของประชาชน/คนรุ่นใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แบบแผนชีวิต ร่วมขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมจัดอบรมออนไลน์แก่ประชาชนทั่วไปให้มีความเข้าใจสภาวะโลกร้อน การสร้างการมีส่วนร่วมที่จะป้องกันและเร่งแก้ไขปัญหา และการลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงพัฒนาทักษะการสื่อสาร การทำความเข้าใจปัญหาผลกระทบและทางออกของสภาวะโลกร้อน นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยในระยะยาว ทั้งในประเด็นอากาศสะอาด การลดการใช้พลังงานต่างๆ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การผลิตและบริโภคที่พอเพียงซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืน” ดร.สุปรีดา กล่าว
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ทส. กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการฟื้นฟูมลพิษทางสิ่งแวดล้อมและการปรับตัวของประชาชนในทุกมิติ จึงต้องอาศัยการดำเนินงานในการสร้างความเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศ ขณะนี้ ทส. เร่งจัดทำร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ร.บ.โลกร้อน) พ.ศ. …. ขึ้น โดยรวบรวมข้อมูลก๊าซเรือนกระจกจากองค์กรต่างๆ แนวทางการส่งเสริมการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไปภายในปี 2566