“สมาคมธนาคารไทย” วางโรดแมป 3 ปี พัฒนาระบบการเงิน ชู 4 แนวทาง เพิ่มศักยภาพแข่งขันไทย
สมาคมธนาคารไทย วางโรดแมป พัฒนาระบบการเงินช่วง 3 ปีข้างหน้า ชู “4 แนวทาง” รับมือการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจการเงิน เสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันเศรษฐกิจไทย มุ่งนำเทคโนโลยีช่วยภาคธุรกิจปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล สนับสนุนกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศ ผลักดันการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน และพัฒนา “คนดิจิทัล” รองรับการเติบโตของธุรกิจการเงิน
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “บทบาท 3 องค์กรภาคเอกชนและการทำงานร่วมกันในกกร. เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ในงาน FTI Expo 2022 “Shaping Future Industries for Stronger Thailand” มหกรรมแสดงสินค้าและนวัตกรรมของอุตสาหกรรมไทย เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ว่า ภาคธุรกิจการเงินมีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว โดยมุ่งสู่ดิจิทัลแบงกิ้ง เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งมีความท้าทายหลายด้าน ทั้งการมีผู้เล่นหน้าใหม่ในกลุ่มที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-bank) ที่มีศักยภาพและความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจากรายงาน FinTech in ASEAN 2021 พบว่า ในปี 2021 ประเทศไทยมีบริษัท ฟินเทครวมจำนวน 268 บริษัท เพิ่มขึ้นจาก 177 บริษัทในปี 2017
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล มีแนวทางจะปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินใหม่เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมการแข่งขันผ่านการเปิดโอกาสให้ภาคการเงินใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูล ภายใต้หลักการ 3 Open ได้แก่ 1.Open Competition การแข่งขันที่เปิดกว้างทั้งการแข่งขันจากผู้เล่นใหม่ซึ่งอาจจะไม่ใช่ธนาคารให้สามารถเข้ามาแข่งขันกับผู้เล่นเดิมในอุตสาหกรรม รวมถึงเปิดให้ ผู้เล่นปัจจุบันสามารถปรับตัวเพื่อแข่งขันกับผู้เล่นรายใหม่ได้ 2.Open Infrastructure การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับทั้งผู้เล่นใหม่ และผู้เล่นปัจจุบันให้เข้ามาใช้งานได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันและต่อยอดในเชิงนวัตกรรมได้ 3.Open Data ส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันและโอนข้อมูล เช่น การสนับสนุนให้มีธนาคารออนไลน์ หรือ virtual bank เป็นต้น
ทั้งนี้ สมาคมธนาคารไทยได้วางแนวทาง (Roadmap) การพัฒนาระบบการเงินในช่วง 3 ปีข้างหน้า เพื่อรับมือความท้าทายและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมยกระดับการแข่งขันของ ประเทศไทย ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยมุ่งเน้น 4 ด้าน ดังนี้
1.Enabling Country Competitiveness การเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ โดยนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของภาคธุรกิจเพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น โครงการที่สำคัญ เช่น โครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business หรือ PromptBiz เป็นการพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลการค้า การชำระเงิน ข้อมูลผู้ให้บริการทางการเงินและระบบภาษีของภาครัฐผ่านกระบวนการดิจิทัล อีกโครงการคือ National Digital ID (NDID)หรือการยืนยันตัวตนในรูปแบบดิจิทัล และ ระบบ e–Signature หรือลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคล และความเสี่ยงทาง ไซเบอร์อย่างเข้มข้น ตลอดจนผลักดันการวางกรอบแนวทางสนับสนุน ระบบ Open Banking หรือ การสร้างกลไกให้ผู้ใช้บริการทางการเงินในฐานะเจ้าของข้อมูลสามารถบริหารจัดการข้อมูลที่มีอยู่ที่ธนาคารต่าง ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลได้สะดวกมากขึ้น ล่าสุด ภาคธนาคารได้เปิดตัวการให้บริการ d-Statement หรือการรับส่งข้อมูลรายการเคลื่อนไหวของบัญชีเงินฝาก (bank statement) ในรูปแบบดิจิทัลระหว่างสถาบันการเงิน เพื่ออำนวยความสะดวก และลดต้นทุนของลูกค้า
2. Regional Championing การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ นักลงทุนและประชาชนสามารถทำกิจกรรมการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ และการชำระเงินของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย ต้นทุนต่ำ โดยสมาคมฯ จะเดินหน้าสนับสนุนการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัลระหว่างกันในภูมิภาค รวมถึงสนับสนุนระบบสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง หรือ CBDC และต่อยอดสู่การชำระเงินระหว่างประเทศ โดยมีโครงการที่สำคัญ คือ โครงการ National Digital Trade Platform (NDTP) ร่วมกับ กกร. เพื่อปรับเปลี่ยนการทำธุรกรรมการค้าขายระหว่างประเทศสู่ระบบดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนและระยะเวลา และสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงการค้าระหว่างประเทศ และเข้าถึงสินเชื่อได้ดีขึ้น
3.Sustainability ภาคธนาคารต้องดำเนินงาน และ มีส่วนผลักดันให้การดำเนินงานของภาคเอกชนคำนึงถึงหลักการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนหรือ ESG โดยสมาคมฯ จะผลักดันให้ภาคธุรกิจปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) และ BCG economy หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสมาคมฯ ร่วมกับธปท. พัฒนาแนวปฏิบัติการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล นอกจากนี้ สมาคมฯ จะร่วมกันแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ยกระดับมาตรการทั้งก่อนและหลังเป็นหนี้ โดยสนับสนุนการจัดทำศูนย์กลางข้อมูลเครดิตให้สมบูรณ์ รวบรวมข้อมูลเครดิตจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร และสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อสามารถแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จ ควบคู่กับการให้ความรู้ทางการเงินและการเงินดิจิทัล รวมถึงสร้างกลไกในการเพิ่มวินัยทางการเงินและส่งเสริมการออมเงิน โดยเฉพาะการออมเผื่อเกษียณ นอกจากนี้ ยังมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมให้ประชาชนและภาคธุรกิจ สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้มากขึ้น โดยสมาคมฯ จะส่งเสริมการใช้ข้อมูลทางเลือกในการพิจารณาสินเชื่อ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นต้น
4.Human Capital การพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะตอบโจทย์โลกอนาคต สามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยสมาคมฯ จะเดินหน้าพัฒนาทักษะ (Up & Re-skill) พนักงานธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบที่มีอยู่กว่า 1.3 แสนราย ให้มีความรู้ด้านดิจิทัลมากขึ้น โดยอาศัยแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ของสถาบันธนาคารไทย (Thai Banking Academy-TBAC)พร้อมยกระดับ TBAC ให้มีบทบาทเป็นศูนย์กลางระดับชาติด้านองค์ความรู้และการวิจัยของอุตสาหกรรมการเงิน เพื่อให้บุคลากรในอุตสาหกรรมการเงิน มีสมรรถนะที่สามารถตอบโจทย์โลกการเงินในยุคดิจิทัลตามมาตรฐานสากล นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจลูกค้ามากขึ้น สอดรับกับโมเดลธุรกิจของภาคธนาคารที่มุ่งสู่ดิจิทัลแบงกิ้ง และเน้นความคล่องตัวอย่างเต็มรูปแบบ
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะเป็นการฟื้นตัวแบบ The New K-shaped Economy หรือ การฟื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึงในแต่ละอุตสาหกรรม หลังสถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุด แต่มีปัจจัยใหม่เข้ามากระทบ ทั้งเงินเฟ้อ สงครามรัสเซีย-ยูเครน การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สภาพคล่องในตลาดเงินตลาดทุนลดลงและต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งภายใต้การฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึงจะมีทั้งธุรกิจที่ยังเป็นขาขึ้น เช่น พลังงานสะอาด ยาเพื่อสุขภาพ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น ที่มีศักยภาพจะเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศได้ ถ้ามีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มธุรกิจที่เคยเป็นขาขึ้น แต่เริ่มแผ่วลง จากปัจจัยใหม่ที่เข้ามา เช่น ธุรกิจยานยนต์ เป็นต้น กลุ่มที่เคยเป็นขาลงจากมาตรการโควิด-19 แต่เริ่มดีขึ้น เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวและกลุ่มที่ยังเป็นขาลงต่อเนื่อง กลุ่มนี้แม้จะได้ประโยชน์จากการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 แต่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็ก รถโดยสาร เพราะนักท่องเที่ยวยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทั้งนี้ การสนับสนุนให้ธุรกิจต่างๆ ภายใต้ The New K-shaped Economy สามารถเติบโตไปได้ ต้องอาศัยมาตรการที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มธุรกิจ ไม่ใช่มาตรการเดียวกันทั้งหมด