สสส.– ภาคีเครือข่าย ชวน ครอบครัวงดเหล้าเข้าพรรษา 2565 ชู แนวคิด “ซูเปอร์แม่พ่อ พอแล้วเหล้าเบียร์”

สสส. – ภาคีเครือข่าย ชวน ครอบครัวงดเหล้าเข้าพรรษา 2565 ชู แนวคิด “ซูเปอร์แม่พ่อ พอแล้วเหล้าเบียร์” ขจัดความทุกข์ สร้างสุข ปลูกความอบอุ่น เปลี่ยนบ้านเป็นพื้นที่ปลอดอบายมุข เตรียมขยายเขตปลอดเหล้า 500 แห่ง หลังพบประหยัดค่าใช้จ่ายประเทศกว่า 3,000 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2565 ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล) และภาคีเครือข่าย จัดงานวันงดเหล้าเข้าพรรษา มหามงคล ปี 2565 ภายใต้แนวคิด “ซูเปอร์แม่พ่อ พอแล้วเหล้าเบียร์” เชิญชวนครอบครัว พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ลด ละ เลิกเหล้า-บุหรี่ เพื่อสุขภาวะที่ดี

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยจะผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น แต่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัว เช่น ก่อให้เกิดความรุนแรงในบ้าน เพิ่มความเสี่ยงอุบัติเหตุบนท้องถนน สร้างค่าใช้จ่ายหนี้สินในครัวเรือนมากขึ้น ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะทุกมิติ ทำให้วันเข้าพรรษาปี 2565 สสส. ทำหน้าที่ขับเคลื่อนให้เกิดการ ลด ละ เลิกเหล้าต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 20 ปี
ความสำเร็จการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2564 สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าและสมาคมเครือข่ายงดเหล้าและลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ พบคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มช่วงเข้าพรรษา 6,608,242 คน แบ่ง 3 กลุ่ม 1.งดเหล้าได้ตลอดพรรษา 3 เดือนและตั้งใจงดต่อไปจนออกพรรษา 2,780,216 คน 2.งดเป็นบางช่วง (ไม่ครบพรรษา) 1,401,864 คน 3.ไม่งดแต่ลดการดื่มลง 2,426,162 คน ขณะที่ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) พบการงดเหล้าเข้าพรรษาทำให้สุขภาพกาย-ใจดีขึ้น ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งประเทศได้ประมาณ 3,397,661,367 ล้านบาท เฉลี่ยในช่วง 3 เดือน พบประหยัดเงิน 1,432 บาท/ครัวเรือน และหลายคนตั้งใจจะลด ละ เลิก ในปีต่อๆ ไป เพราะส่งผลดีต่อตัวเองและครอบครัว


“วันเข้าพรรษาปีนี้ แม้จะผ่อนคลายมาตรการ แต่ สสส. ยังส่งเสริมให้เว้นรักษาระยะห่าง เพื่อป้องกันโควิด-19 ภายใต้แนวคิด งดเหล้าเข้าพรรษา มหามงคล “ซูเปอร์แม่-พ่อ พอแล้วเหล้าเบียร์” ลด ละ เลิก เหล้า บุหรี่ อบายมุขเพื่อสร้างสุขให้สังคม ตนเอง ครอบครัว และจะมีแคมเปญรณรงค์ต่อเนื่องจากปี 2564 ใช้ชื่อว่า “Mr.พ่อ พอแล้วเหล้า” มีเป้าหมายให้พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ทำหน้าที่เสมือนฮีโร่ในใจลูก เป็นตัวอย่างของการห่างไกลอบายมุขทุกชนิด โดยเฉพาะเหล้า-เบียร์ และ “ระวังมันมาเล็ง” เพื่อทำให้เห็นพิษภัยของเหล้าว่าไม่ใช่แค่ทำให้เกิดมะเร็งตับ แต่ยังทำให้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร และเต้านม ปีนี้ สสส. รณรงค์ลด ละ เลิกเหล้า 1,048 ชุมชน รวม 158 อำเภอทั่วประเทศ ตั้งเป้าขยายไป 500 อำเภอ ผ่านโครงการพัฒนาคนหัวใจหิน หัวใจเหล็ก หัวใจเพชร ให้คนในชุมชนร่วมปรับแนวคิด พฤติกรรม พึ่งตนเองได้ และส่งเสริมให้สถานศึกษาร่วมเป็นกำลังหลักขับเคลื่อนให้คนในครอบครัวงดดื่มเหล้าตลอด 3 เดือนในวันเข้าพรรษา” ดร.สุปรีดา กล่าว
นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีครอบครัวเป็นสมาชิกเลิกเหล้าเบียร์เป็นซูเปอร์ฮีโร่ กว่า 5,000 ครอบครัวในชุมชนต่างๆ ทั่วพบว่าทักษะในการใช้ภาษารักในครอบครัว สร้างแรงจูงใจให้คนในบ้านลด ละ เลิกได้ โดยปีนี้แนะนำให้ทุกบ้านใช้คำพูด 3 เพิ่ม 1 เลี่ยง 1.เพิ่มแสดงความรู้สึก เช่น กังวล เป็นห่วง เสียใจ ไม่สบายใจ ดีใจ เป็นกำลังใจ เพราะ จะทำให้ผู้ดื่มรับทราบเจตนาความหวังดี 2.เพิ่มเวลาฟังและสะท้อนคืนสิ่งที่ได้ยิน เพราะคนที่มีปัญหาส่วนหนึ่งอยากให้มีคนฟังและเข้าใจ จะทำให้ผู้ดื่มสบายใจและเปิดใจ 3.เพิ่มการสัมผัสกอด และกิจกรรมในครอบครัว 4.เลี่ยงคำพูดหรือการกระทำที่ทำให้ผู้ดื่มเหล้าไม่สบายใจ เช่น ไม่มีวันทำสำเร็จ ขอให้ดื่มไปจนตาย จะเลือกเหล้าหรือจะเลือกฉัน โดยในปีนี้ขอเชิญชวนให้ทุกครอบครัวมาร่วมกันเป็น “ซูเปอร์แม่พ่อ พอแล้วเหล้าเบียร์” เพื่อส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และคนในสังคมมีสุขภาวะที่ดีในระยะยาว

นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการปกครองท้องที่ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เนื่องในวันเข้าพรรษาทุกปี ถือเป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 ปีนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบคำขวัญในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ไว้ว่า “ปลอดเหล้า ปลอดโรค ห่างไกลโควิด19” เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนลดการดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มเงินในกระเป๋า เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย เพิ่มความสุขในครอบครัว
กระทรวงมหาดไทย ในฐานะภาคีเครือข่ายร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เชิญชวนนายอำเภอทั้ง 878 อำเภอ จัดกิจกรรม “นายอำเภอชวนชาวบ้านงดเหล้าเข้าพรรษา” ผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และเครือข่ายงดเหล้าในพื้นที่ โดยเชิญชวนประชาชนแสดงเจตนารมณ์งดดื่มแอลกอฮอล์ และลงทะเบียนออนไลน์เข้าร่วมโครงการ ตามแนวทาง 4 ช. ได้แก่ “ชวน ช่วย เชียร์ เชิดชู” 1. “ชวน” ได้แก่ การชักชวนภาคีเครือข่าย ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของรัฐ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และชาวบ้านทั่วไปร่วมกิจกรรมงดเหล้า เข้าพรรษา 2. “ช่วย” ได้แก่ การช่วยสนับสนุน ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ ร่วมถึงการขับเคลื่อนกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาผ่านภาคีเครือข่าย เช่น บวร คือ บ้าน วัด โรงเรียน เข้าร่วมกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา 3. “เชียร์” คือ การเยี่ยมให้กำลังใจและเชิญชวนประชาชนงดเหล้าช่วงเข้าพรรษา และเป็นกำลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาต่าง ๆ 4. “เชิดชู” คือ การยกย่อง เชิดชู ชุมชน หมู่บ้าน กลุ่มบุคคล หรือบุคคล เพื่อเป็นต้นแบบตัวอย่างเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชน
ดร.บรรเจอดพร สู่แสนสุข รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ผลจากโครงการโพธิสัตว์น้อยลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า ทำร่วมกับ สคล.และ สสส. ต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 13 ในปี 2565 นี้ สพฐ. มีโรงเรียนในสังกัดเกือบ 30,000 โรงเรียนทั่วประเทศ ที่ร่วมรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา โครงการโพธิสัตว์น้อยลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า บูรณาการแก้ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กระทบต่อชีวิตของคนในสังคม สู่การเรียนรู้ของนักเรียนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาคนที่ดื่ม โดยพลิกวิกฤตเป็นโอกาสทำให้เด็ก-เยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาเป็นกำลังสำคัญทำให้พ่อ แม่ ผู้ปกครองลด ละ เลิกดื่ม ควบคู่กับการสร้างความภาคภูมิใจในตนเองหรือ Self esteem ให้แก่นักเรียนๆ ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันให้ห่างไกลปัจจัยเสี่ยงระยะยาว

ด้านรศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด กล่าวว่า 1413 สายด่วนเลิกเหล้า ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ช่วยให้คำปรึกษาผู้ที่อยากเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ได้รับผลกระทบจากการดื่ม โดยให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์แบบครบวงจรรวมไปถึงการสื่อสารช่องทางต่างๆ ทางสื่อสังคมออนไลน์ ช่วงเข้าพรรษาของทุกปี มีคนโทรเข้ามาปรึกษาเลิกเหล้ามากขึ้น ปี 2563 – 2564 ตั้งแต่กรกฎาคม – กันยายน พบคนโทรมาขอคำปรึกษา 3,500 – 5,000 สาย เพื่อรองรับการให้บริการช่วงเข้าพรรษา สายด่วน 1413 ได้เพิ่มจำนวนคู่สาย และเพิ่มนักจิตวิทยาให้คำแนะนำประเมินความเสี่ยงกับประชาชน ที่ต้องการเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเป็นสะพานเชื่อมให้คนที่อยากเลิกดื่มเริ่มเข้าสู่กระบวนการบำบัด รับการรักษาด้วยวิธีเหมาะสม และไม่เป็นอันตราย ปีนี้ 1413 สายด่วนเลิกเหล้า เพิ่มการให้คำปรึกษาสำหรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการโพธิสัตว์น้อยลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า

ส่วนประชาชนที่ต้องการลด ละ เลิกเหล้า หรือผู้ได้รับผลกระทบจากการดื่ม สามารถติดต่อได้ทางออนไลน์อีกช่องทางหนึ่ง ได้แก่ www.1413.in.th และ ID LINE: 1413helpline บริการทุกวันวันจันทร์-อาทิตย์ ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.00 – 20.00 น.