อพวช.ร่วมเปิดนิทรรศการ
ดินแดนต้นกำเนิดมนุษยชาติ
ก.วิทย์ โดยอพวช. ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบีและสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเคนยา ในไทย จัดนิทรรศการภาพถ่าย “Cradle of Mankind : ณ ดินแดนต้นกำเนิดมนุษยชาติ” 9 ก.ย. – 31 ต.ค.58 ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. อาคารจัตุรัสจามจุรีเพื่อเผยแพร่ความรู้โบราณคดี วัฒนธรรมท้องถิ่นชนเผ่าเคนยาบริเวณรอบทะเลสาบเทอร์คานา แหล่งต้นกำเนิดเผ่าพันธุ์มนุษยชาติเมื่อ 2 ล้านปีก่อน
นายประสิทธิพร เวทย์ประสิทธิ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญกับประเทศเคนยาอย่างมาก เนื่องจากเคนยาเป็นประตูสู่แอฟริกาตะวันออก เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ อีกทั้งเป็นหัวหาดสำหรับไทยในทวีปแอฟริกา เพื่อลงทุนในอนาคต ดังนั้นเพื่อเปิดโลกทรรศน์ให้ชาวไทยได้รู้จักกับแอฟริกาตะวันออกในอีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งมิใช่ความยากจน ความแห้งแล้ง หรือโรคภัยไข้เจ็บ แต่เป็นแอฟริกาตะวันออกที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมและอารยธรรมที่งดงาม ที่ยังคงสืบทอดจากชนเผ่าดั้งเดิมมาอย่างยาวนาน ผ่านมุมมองนักเขียนและช่างภาพมืออาชีพของไทย ในการสื่อสารด้วยภาพพร้อมบอกเล่าเรื่องราวที่พบเห็น
ทั้งนี้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี จึงได้เชิญคุณดวงดาว สุวรรณรังษี ศิลปินช่างภาพ บรรณาธิการนิตยสาร GM. TRAVEL และคุณสุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บรรณาธิการนิตยสาร สารคดี สื่อมวลชนไทยคณะแรกที่ได้มีโอกาสเดินทางเข้าไปยังดินแดนแห่งนี้ เพื่อร่วมสำรวจวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในประเทศเคนยาและแทนซาเนีย รวมระยะทางกว่า 7 พันกิโลเมตร เป็นเวลา 12 วัน เพื่อบันทึกภาพและเรื่องราวของภูมิทัศน์ธรรมชาติอันมหัศจรรย์ ตลอดจนสีสันทางวัฒนธรรมของวิถีชีวิตผู้คนในดินแดนซึ่งกาลเวลาและปราการธรรมชาติได้กั้นแบ่งจากโลกภายนอกมานับตั้งแต่อดีตกาล จนกลายมาเป็นนิทรรศการภาพถ่ายชุดนี้ขึ้น
นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี และสถานทูตสาธารณรัฐเคนยา ให้เกียรติ อพวช. นำภาพถ่าย “Cradle of Mankind : ณ ดินแดนต้นกำเนิดมนุษยชาติ ” มาจัดแสดงที่จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสองประเทศ ในด้านมานุษยวิทยา ชีววิทยา ธรณีวิทยา ตลอดจนโบราณคดี ซึ่งเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานของประเทศไทยในอนาคต ตลอดจนเปิดโอกาสให้เยาวชนและประชาชนคนไทยได้ทราบถึงข้อมูลและมีความเข้าใจในสภาพความเป็นอยู่ วิถีชีวิตของชาวแอฟริกาตะวันออก ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้คนไทยได้เรียนรู้ รู้จัก เพื่อนร่วมโลกของเราใบนี้ให้มากขึ้น นำมาซึ่งการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ ให้ยั่งยืนต่อไป