วช.หนุนทีมวิจัยมก. พัฒนานวัตกรรมผลิต ภัณฑ์จากยาง พาราเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมปลายน้ำ
วช.หนุนงานทีมวิจัย มก. พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากยางพาราเพิ่มมูลค่าให้อุตสาหกรรมปลายน้ำ นักวิจัยเผยปัจจุบันสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ใช้ทั้งด้านวัสดุก่อสร้างและวัสดุเชิงประกอบ ผ่านทดสอบคุณสมบัติเบื้องต้นแล้ว พบเทียบเท่ามาตรฐานอุตสาหกรรม พร้อมต่อยอดผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้สนับสนุนทุนวิจัยในกลุ่มเรื่องยางพารา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้กับ “แผนงานวิจัยการจัดการนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราในการประยุกต์ด้านวัสดุก่อสร้างและวัสดุเชิงประกอบเพื่อการพัฒนาสุขภาวะอย่างยั่งยืน” ซึ่งมี ผศ.ดร.ปารเมศ กำแหงฤทธิรงค์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เป็นหัวหน้าชุดโครงการวิจัย เพื่อให้เกิดการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่จะตอบโจทย์ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจหรือสังคม โดยเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มวัสดุก่อสร้างและวัสดุเชิงประกอบที่มียางพาราเป็นส่วนประกอบ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าและเพิ่มโอกาสทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ยางพาราที่เป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำให้เพิ่มมากขึ้น
ผศ.ดร.ปารเมศ กำแหงฤทธิรงค์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า แผนงานวิจัยการจัดการนวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากยางพาราในการประยุกต์ด้านวัสดุก่อสร้างและวัสดุเชิงประกอบเพื่อการพัฒนาสุขสภาวะอย่างยั่งยืน เป็นชุดโครงการวิจัยที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มียางพาราเป็นส่วนประกอบ ซึ่งทีมวิจัยได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการผสมทางด้านนวัตกรรมวัสดุต่าง ๆ โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ คือ 1. กลุ่มวัสดุก่อสร้าง เช่น การใช้น้ำยางพาราข้นผสมคอนกรีตในการผลิตคอนกรีตมวลเบาและวัสดุปูพื้น การเพิ่มประสิทธิภาพและการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ของกระเบื้องหลังคาซีเมนต์เส้นใยปาล์มผสมยางเพื่อการใช้งานในบ้านตัวอย่าง และการพัฒนาฉนวนกันความร้อนจากยางธรรมชาติผสมยางอีพีดีเอ็มสำหรับการประยุกต์ใช้งานด้านอุตสาหกรรมก่อสร้าง
2. กลุ่มวัสดุเชิงประกอบทางการแพทย์ เช่น การพัฒนาสูตรและกระบวนการการผลิตวัสดุกำบังรังสีเอกซ์ปราศจากสารตะกั่วจากวัสดุเชิงประกอบผงไม้ยางพาราและพอลิไวนิลคลอไรด์สำหรับการใช้งานเป็นวัสดุตกแต่งในห้องปฏิบัติการทางรังสี และการพัฒนาวัสดุที่สามารถปั้นขึ้นรูปได้สำหรับกำบังรังสีนิวตรอนและโฟตอน
3.กลุ่มวัสดุเชิงประกอบทางด้านกีฬา เช่น การพัฒนาและทดสอบสมรรถนะแผ่นยางเทเบิลเทนนิสที่มียางธรรมชาติเป็นองค์ประกอบ และ 4. กลุ่มวัสดุเชิงประกอบไม้อัดประสิทธิภาพสูง เช่น การแปรรูปไม้อัดประสิทธิภาพสูงจากชิ้นไม้ยางพาราเสริมแรงด้วยเทอร์โมพลาสติกโดยใช้กรดซิตริกและมอลโทสแดกซ์ทรินเป็นสารยึดเกาะ และการแปรรูปไม้อัดประสิทธิภาพสูงจากชิ้นไม้ยางพาราเคลือบผิวหน้าด้วยยางธรรมชาติวัลคาไนซ์และไม้วีเนียร์
“แผนงานวิจัยการจัดการนวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากยางพาราฯ นอกจากจะช่วยส่งเสริมให้ทีมนักวิจัยทำการวิจัยและพัฒนา
ผลิตภัณฑ์ใหม่จากยางพาราแล้วยังช่วยเพิ่มมูลค่า เพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมการผลิตอย่างยั่งยืน ส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรชาวสวนยางพารา และช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ด้านวัสดุก่อสร้างที่ใช้ยางพาราเป็นส่วนประกอบ ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ในด้านนวัตกรรมวัสดุอีกด้วย”
ปัจจุบันทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบจำนวน 8 ผลงาน ทั้งคอนกรีตมวลเบาสำหรับผนังและวัสดุปูพื้น กระเบื้องหลังคาซีเมนต์เส้นใยปาล์มผสมกับเศษยาง ฉนวนกันความร้อนจากยางธรรมชาติผสมยางอีพีดีเอ็มทำฝ้าเพดาน วัสดุกำบังรังสีเอกซ์ปราศจากสารตะกั่ว วัสดุปั้นขึ้นรูปสำหรับกำบังรังสีนิวตรอนและโฟตอน แผ่นยางเทเบิลเทนนิส รวมถึงการแปรรูปไม้อัดประสิทธิภาพสูงจากชิ้นไม้ยางพาราเสริมแรงด้วยเทอร์โมพลาสติก และการแปรรูปไม้อัดประสิทธิภาพสูงจากชิ้นไม้ยางพาราเคลือบผิวหน้าด้วยยางธรรมชาติวัลคาไนซ์และไม้วีเนียร์
ทั้งนี้ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มียางพาราเป็นส่วนประกอบดังกล่าว ทีมวิจัยได้ทำการทดสอบคุณสมบัติเบื้องต้นพบว่า สามารถเทียบได้กับวัสดุเชิงพาณิชย์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาด และตรงตามมาตรฐานอุตสาหกรรมที่อ้างอิง ซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป .