หนุนไทยร่วมพัฒนาชีววัตถุ
สู่ผู้ผลิตวัคซีนถูกใช้-ส่งออก
เวทีการประชุมวิชาการ Biopharmaceutical : ชีวเภสัชภัณฑ์ จำเป็นและสำคัญอย่างไร ในงาน Thailand Lab 2015 จัดโดย 2 หน่วยงานหลักภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) และสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง (THAIST) ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (สวทน.)หนุนไทยผลิตวัคซีน ส่งออกได้เอง
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญที่จะต้องมีความร่วมมือในการ วิจัยทางคลินิก เพื่อนำไปสู่การพัฒนายาด้วยนวัตกรรมใหม่ โดยมองว่า ควรจะหาทางผลิตให้ได้ในราคาที่เหมาะสมเพื่อการส่งออก เพราะขณะนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับนวัตกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ในการป้องกันและรักษาโรค ที่ครอบคลุมทั้ง ยาชีววัตถุ วัคซีน จึงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ศ.ดร.ยงยุทธยังเสนอนะให้ระดับนโยบายของประเทศให้ความสำคัญกับโรคที่ไม่ได้รับการรักษาหรือโรคที่ถูกละเลย โดยเฉพาะกลุ่มโรคติดเชื้อในเขตร้อนที่ระบาดในกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยในพื้นที่กำลังพัฒนา อย่างไรก็ตามได้ย้ำถึงเรื่องการป้องกันและการให้การศึกษาที่ถูกต้องว่าสำคัญมากกว่าการรักษา
“ในปัจจุบัน ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพและได้เริ่มทำการวิจัยทางคลินิคมาแล้วถึง 15 ปี แต่การวิจัยทางคลินิคเน้นไปในระยะ 3 คือใกล้ออกสู่ตลาดและเป็นลักษณะของการรับจ้างวิจัยจากบริษัทข้ามชาติ ที่ได้ทำการวิจัยในระยะที่ 1 และ 2 มาแล้ว จากเหตุดังกล่าวประเทศไทยจึงอยู่ในฐานะเป็นเพียงผู้ใช้ ในขณะที่อินเดีย และจีน สามารถผลิตวัคซีนในราคาที่ต่ำและสามารถส่งออกได้ ดังนั้น การจะก้าวสู่เทรนด์โลก จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาให้ครบวงจร โดยประเทศไทยต้องผลิตวัคซีนและส่งออกได้เอง”
ตัวอย่างหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านชีววัตถุและชีวเภสัชภัณฑ์ของประเทศที่มีอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) มีโรงงานต้นแบบยาชีววัตถุแห่งชาติรองรับอยู่แล้ว ซึ่งได้ลงนามความร่วมมือกับ TCELS ในโอกาสนี้ด้วย เพื่อร่วมกันพัฒนาบุคลากรด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีทีเกี่ยวกับชีวเภสัชภัณฑ์สู่งานบริการ รวมถึงร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเตรียมพร้อมส่งออก โดยมี ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิบการบดี มจธ. และ ดร.นเรศ ดำรงชัย ผอ.TCELS เป็นผู้ลงนาม
ดร.นเรศ กล่าวว่า ตลาดชีวเภสัชภัณฑ์ เป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลก เนื่องจากความต้องการที่สูงขึ้นอันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บที่ซับซ้อนมากขึ้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะที่ผู้วิจัยและผู้ผลิตก็มีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นมากมาย แต่จากการวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ที่ทาง TCELS ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทราบว่า ประเทศไทยมีความเข้มแข็งในหลายด้าน คุ้มค่าที่จะผลักดันชีวเภสัชภัณฑ์ สร้างโอกาสทางการตลาดอุตสาหกรรมใหม่ให้แก่ประเทศเพื่อเป็นศูนย์กลางทางด้านนี้ของอาเซียน โดยจุดที่สำคัญหนึ่งคือ การพัฒนาโครงสร้างกำลังคน และระบบอำนวยความสะดวก ทั้งระดับก่อนและหลังการศึกษาวิจัยทางคลินิกตลอดจนความพร้อมของระบบส่งเสริมการขึ้นทะเบียนและการลงทุนให้แก่ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุน เพื่อให้พร้อมขึ้นทะเบียนสู่ตลาดเชิงพาณิชย์